02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ถนอมสายตาเพื่อเกมส์กอล์ฟที่คุณรัก (นพ.นพรัตน์ สุจริตจันทร์)

          การส่องสว่างของแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผิวพรรณเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของดวงตาอย่างมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่นักกอล์ฟควรหันมาเอาใจใส่และถนอมดวงตาให้มากขึ้นกว่าเดิมในยามออกรอบกลางแดดจ้า

นักกอล์ฟ VS ชาวนา

          จากการสนทนากับนายแพทย์นพรัตน์ สุจริตจันทร์ พบว่าอันที่จริงแล้วแสงแดดค่อนข้างเป็นอันตรายต่อดวงตามากกว่าผิวพรรณด้วยซ้ำไป  ปัจจุบันนอกจากคุณหมอนพรัตน์จะเป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจักษุรัตนินแล้ว คุณหมอยังเป็นผู้รักกีฬากอล์ฟอีกคนหนึ่งที่ดูแล สุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทุกวันโดยการออกรอบสลับกับการออกกำลังกายด้วยการจ๊อกกิ้ง

          คุณหมอกล่าวว่า แสงแดดเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟควรให้วามใส่ใจอย่างมาก เพราะเป็นอันตรายทั้งต่อสายตาและผิวหนัง "แต่บังเอิญโชคดีที่คนไทยตัวดำหน่อยจึงมี 'Pigment' บางๆอยู่ ทำให้ไม่ค่อยเป็นมะเร็งผิวหนังเท่าไร แตกต่างจากคนผิวขาวที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่า" คนที่ใช้เวลากลางแจ้งนานๆ โดยไม่ใส่แว่นกันแดด ไม่สวมหมวก และไม่ได้ปกป้องร่างกายจากแสงแดดอย่างเช่น เกษตรกรชาวไร่ชาวนา รวมถึงชาวฟอล์ฟเองจึงมีโอกาสประสบปัญหาดวงตาได้เช่นเดียวกัน "มักพบกันมากกว่าชาวนาบ้านเราเป็นต้อเนื้อ ต้อลม กันแทบทุกคนเลย เพราะเวลาทำงานมักไม่ค่อยใส่แว่นกันแดด ชาวนาก็เหมือนนักกอล์ฟ" คุณหมอกล่าวอย่างอารมณ์ดี และยังได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างแสงแดดกับร่างกายของเราให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้
       
          ในส่วนของผิวพรรณ "แสงอาทิตย์นั้นส่องลงมาเป็น "Electro magnetic Wave"ซึ่งมี "Range" กว้างมาก ถึงแม้บังเอิญว่าเรามีชั้นบรรยากาศที่คุมเข้มแสงยูวีช่วยกรองไปได้เยอะ แต่แสงพวกนี้ก็ยังคงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้"

สามโรคฮิตทำร้ายดวงตา

          สำหรับความเกี่ยวพันระหว่างแสงแดดกับดวงตา คุณหมออธิบายต่อไปอีกว่า "ส่วนดวงตานั้นแสงแดดส่งผลให้มีโอกาสเกิดสามโรคใหญ่ๆ ประการแรก เมื่อผิวตาขาวโดนแสงยูวีมากๆ ผิวบริเวณนั้นก็จะหนาตัวขึ้นมาเรียกว่า ต้อลม คนที่เป็นต้อลมมักมีอาการโดนแดด โดนลม โดนคันบุหรี่ไม่ได้ ถ้าหากคืนไหนนอนดึก ตื่นเช้ามาจะมีดวงตาแดงก่ำ คนไทยเป็นแทบทุกคน"
          ประการที่ 2 "ถ้าหากโดนแดดมากขึ้นไปอีก เป็นต้อลมสักพักหนึ่ง ผิวบริเวณนั้นก็จะหนาตัวมากขึ้นจนกลายเป็นต้อเนื้อ เห็นได้ว่าคนไทยและชาวนาไทยเป็นต้อเนื้อกันมากขึ้น ทำให้ต้องผ่าตัดเสียค่ายา ค่ารักษาพยาบาล กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราใส่แว่นกันแดดเสียก็จะไม่ประสบกับปัญหานี้และยังเป็นการประหยัดไปในตัว"
          และประการที่ 3 "อีกเรื่องหนึ่งที่พิสูจน์ได้คือ คนที่ออกแดดเยอะๆมีโอกาสเป็นจอประสาทตาเสื่อมได้สูง" คุณหมอบอกว่าโดยทั่วไปแล้วโรคจอประสาทตาเสื่อมมักพบในผู้สูงอายุ แสดงอาการออกมาโดยการตาพร่าเหมือนทีวีรับภาพไม่ได้ แม้โรคนี้จะไม่พัฒนาไปจนถึงขั้นตาบอด แต่การมองเห็นไม่ปกติย่อมก่อให้เกิดความรำคาญ มองเห็นหน้าค่าตาคนอื่นเป็นเงาปื้นๆ อ่านหนังสือไม่ได้ การใช้ชีวิตย่อมเปล่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน
          

ตาดีย่อมได้ ตาร้ายย่อมเสีย

          คุณหมอนพรัตน์อธิบายการทำงานของดวงตาให้ฟังคร่าวๆ ว่าในสายตาของคนปกตินั้นมีส่วนประกอบสำคัญคือ กระจกตา เลนส์ตา และจอรับภาพ
ในส่วนที่เป็นจอรับภาพนั้นมีอยู่สองส่วนคือ ส่วนตรงกลางที่เห็นได้ชัดที่สุด กับส่วนที่อยู่ด้านนอกซึ่งจะเห็นได้แบบมัวๆ เฉพาะการเคลื่อนไหวและสีเป็นหลัก สำหรับกระจกตาและเลนส์ตาทำหน้าที่ในการหักเหแสงให้มาโฟกัสที่จอรับภาพ ถ้ามาโฟกัสในส่วนตรงกลางย่อมทำให้การมองเห็นชัดเจน แต่ถ้าหากจุดโฟกัสมาตกลงในพื้นที่ส่วนที่อยู่ด้านนอกย่อมทำให้การมองเห็นพร่าเลือนไป
          ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องดวงตาที่เล่นกอล์ฟเป็น คุณหมอบอกว่า "ถ้าสายตาสองข้างดี ทำงานได้ดีพร้อมกัน ก็จะเห็นภาพสามมิติ ซึ่งสำคัญมากสำหรับนักกอล์ฟ เพราะการตีลูกกอล์ฟเราจะฟัง แต่อคดดี้อย่างเดียวไม่ได้ ต่องกะระยะได้เองด้วย คนตาเขจึงเล่นกอล์ฟไม่เก่งหรือว่าเล่นกีฬาอื่นๆ ไม่ได้ดีเช่นกัน  เพราะความแม่นไม่มี การที่ตาสองข้างเห็นชัดทั้งคู่ทำให้มี "Depth Perception"สามารถกะระยะความลึกได้ถูก ถ้าเห็นไม่ชัด ตีไประยะ 80 หลา ตกน้ำเลย"
          ส่วนที่กังวลกันมากกว่าการโฟกัสไปที่ลูกกอล์ฟตลอดเวลาของการเล่น จะมีผลเสียต่อดวงตาบ้างหรือไม่ คุณหมอบอกว่า การเพ่งเรื่อยๆ ไม่มีผลเสียต่อดวงตา เปรียบเหมือนกับขาที่เราใช้เดินนั่นแหล่ะ คนที่เดินวันละ 10 กิโลเมตร กับคนที่เดินวันละ 10 ถึง 50 เมตร แตกต่างกันตรงที่คนที่เดินมากกว่าอจจะแข็งแรงมากขึ้น แต่ก็อาจจะเมื่อย แต่เมื่อเมื่อยแล้วพัก ความเมื่อยก็หาย "สายตาของเราก็เช่นเดียวกัน หากใช้สายตามาก มันเมื่อย พักก็หาย การเพ่งจึงไม่ได้ทำลายดวงตา แต่อาจจะมีปัญหาตรงที่การเพ่งทั้งวันส่งผลให้สายตัส้นเพิ่มขึ้น" คุณหมอยังเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟีงอีกว่า "มีงานศึกษาวิจัยขั้นหนึ่งที่พบว่าในช่วงสงครามโลกคนญี่ปุ่นสายตาสั้นน้อยลง เหตุเพราะส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปเข้าร่วมกองทัพทำสงคราม และยามค่ำคืนไม่มีแสงไฟ ทำให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ"          

         จากคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญทำให้เบาใจได้ว่า การเพ่งลูกกอล์ฟไม่ได้ทำให้ดวงตาเสียหายอย่างที่กังวลกัน เพียงแต่ใช้งานบ้าง พักบ้าง สลับกันไปก็น่าจะเป็นวิธีการที่ดีในการถนอมดวงตา

รู้จักกับต้อลม (Pinguecular)  และต้อเนื้อ (Pterygium)

         ต่อลมคือก้อนเนื้อเยื่อที่งอกอยู่บนตาขาวข้างกระจกตาดำ มีลักษณะเป็นแผ่นหนาหรือนูนกลมสีขาวเหลือง ส่วนต้อเนื้อคือต้อลมที่ขยายตัวใหญ่และหนาขึ้น จนลามเข้าไปในกระจกตาดำ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมซึ่งมีฐานอยู่ที่ตาขาวและยอดแหลมยื่นเข้าไปในกระจกตาดำ
         สาเหตุเกิดจากตาถูกรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานหลายปี ทำให้เซลล์ของเยื่อเมือกบุตาขาวสร้างสารประเภทไขมันและโปรตีนมากกว่าปกติ จนเป็นก้อนหรือแผ่นหนาอยู่ข้างกระจกตาดำ
         ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ถ้าหากอักเสบขึ้นมา ตาจะแดงช้ำในบริเวณรอบต้อ รู้สึกระคายเคืองเหมือนมีผงเข้าตา และหากต้อเนื้อลามมาบังจุดศูนย์กลางของกระจกตาดำ จะทำให้ตามัวลงจนมองเห็นไม่ชัด
         หากต้อลมหรือต้อเนื้อมีขนาดเล็กไม่เป็นอันตรายต่อตา และหากดูแลรักษาตัวให้ดี หลีกเลี่ยงไม่ให้ต้ออักเสสบก็จะไม่มีผลเสียต่อความงามและบุคลิกภาพ ดันนั้นการผ่าตัดเพื่อเอาต้อออกจึงไม่จำเป็น
          หากต้อมีขนาดใหญ่จักษุแพทย์แนะนำให้ใช้วิธีลอกต้อเนื้อ โดยทิ้งบริเวณที่ลอกไว้ให้เนื่อเยื่องอกกลับมาคลุมเอง ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย และไม่สิ้นเปลืองอุปกรณ์ แต่ข้อเสียคือมีโอกาสที่ต้อจะงอกขึ้นมาใหม่ได้อีก ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือลอกต้อเนื้อออกแล้วปลูกเนื้อเยื่อ โดยการเลาะเอาเยื่อบุตาขาวส่วนที่อยู่ใต้เปลือกตาบนมาปะในบริเวณที่ต้อถูกตัดออกไป วิธีนี้เป็นงานละเอียดและใช้เวลามาก แต่ผลของการรักษาดีกว่าตรงที่เกือบจะไม่มีการงอกซ้ำอีก

How to Protect Your Eyes

          นพ.นพรัตน์กล่าวว่า "นักกอล์ฟต้องระวังสองอย่างคือ แสงแดดและสายลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมทำให้แสบตา ถ้าคนสูงอายุหน่อยตาจะแห้ง การใส่แว่นจึงช่วยป้องกันทั้งแดดและลม"
          คุณหมอให้คำแนะนำถึงวิธีการดูแลถนอมดวงตาไว้สองข้อใหญ่ ข้อแรก ต้องไปตรวจดวงตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อดูปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับดวงตา เวลาที่จะเป็นอะไรขึ้นมาจะตรวจได้เร็วและรักษาได้เร็ว อย่างไรก็ตามบางอาการแม้จะตรวจได้เร็วแต่รักษาไม่ได้ก็มีเหมือนกัน
          ข้อที่ 2 พยายามใช้แว่นกันแดดให้มากที่สุด  แว่นกันแดดอย่างเดียวไม่พอ คุณหมอบอกว่า "ต้องใส่หมวกด้วย" เพราะแสงยูวีนั้นทะลุทะลวงเข้ามาได้จากทุกสารทิศจริงๆ
          สำหรับเรื่องของแว่นกันแดดนี้คุณหมอกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "สีของแว่นไม่ใช่ตัวช่วยที่สำคัญ เพราะแค่เลนส์ที่ทำจากพลาสติกก็สามารถบล็อกยูวีจากแสงได้แล้ว อาจจะมีสีนิดหน่อย ไม่จำเป็นต้องดำเข้ม สีช่วยได้น้อยมาก ไม่มีผลอะไร" นั่นย่อมหมายความว่าสีเป็นเรื่องของความเท่เสียมากกว่า สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือแว่นกันแดดที่ทำจากกระจกหรือแก้วใช้งานในการปกป้องดวงตาได้ไม่ดีเท่าแว่นกันแดดที่ทำจากพลาสติกนั่นเอง
          ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเรื่องดวงตา คุณหมอกล่าวเสริมว่า "ผมขอถือโอกาสพูดเสียเลย บ้านเรามีแสงยูวีมากมาย ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้คนไทยใส่แว่นกันแดด ผมหมายถึงทุกคนไม่ใช่เฉพาะนักกอล์ฟเท่านั้น" แม้แต่เด็กนักเรียนที่ไปโรงเรียนคุณหมอก็แนะนำให้ใส่แว่นกันแดด แต่มักทำไม่ได้เพราะจะเข้าข่ายการแต่งกายผิดระเบียบไปเสียอีก "เท่าที่ตรวจสายตาคนไข้มา คนไทยเป็นโรคต้อลมกันมาก พออายุสัก 45 ปีก็เป็นกันแล้ว บางคนอายุแค่ 25 ปีด้วยซ้ำไป เสียทั้งเงินค่ายาและเสียทั้งบุคลิก"
          คุณหมอยังเล่าให้ฟังอีกว่า "มีดาราหลายคนมาถาม คุณหมอคะ ทำยังไง ตาหนูแดงจังเลย ทำไงได้ ต้องนอนหัวค่ำเท่านั้น ไม่โดนควันบุหรี่ ไม่โดนลมโดนแดด แต่ทุกอย่างนี้เขาบอกทำทั้งหมดเลย ก็ทำได้แค่เอายาไปหยอดตาขาวเพื่อให้เส้นเลือดขาวขึ้น"
การปกป้องถนอมดวงตาจากแสงแดดจึงต้องเริ่มต้นด้วยการไม่ละเลยเรื่องแว่นกันแดด หมวก ร่ม หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ สายลม แสงแดด นอกจากนั้นยังต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสายตาอีกด้วย
          สำหรับคุณหมอนพรัตน์ซึ่งเล่นกีฬาทั้งเจ็ดวัน โดยการออกรอบสลับกับการวิ่งออกกำลังกาย คุณหมอบอกว่า "เล่นกอล์ฟต้องปล่อยวางมากหน่อย นักกอล์ฟที่ดีต้องหมั่นซ้อม แต่ในชีวิตจริงมักทำไม่ได้ทุกคนเพราะไม่มีเวลามาก นักกอล์ฟเก่งๆ นอกจากซ้อมหนักแล้วสมาธิต้องดี และที่สำคัญคือเขามักมีความเชื่อมั่นว่าเขาดีได้ แบะเขาจะตีได้จริง"
          นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การรักษาอารมณ์ให้ได้เหมือนเดิมทุกครั้งก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อชัยชนะของนักกอล์ฟ "นักกอล์ฟบางคนพอเริ่มจะชนะขึ้นมา ก็ใจไม่นิ่ง พอใจไม่นิ่งมันก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำใจให้ได้เหมือนเดิมทุกครั้ง ความคิดของคนเรา พอคิดว่าต้องทำให้มันดีเหมือนเดิม มันจะเกร็งอะไรสักอย่าง สวิงก็ผิดไป การทำอารมณ์ให้เหมือนเดิมทุกครั้งจึงลำบากมาก"
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้คุณหมอยังคงสนุกกับกอล์ฟ ภายใต้ความคิดที่ว่า "ผมเล่นแบบคนที่ไม่ห่วงสกอร์สักเท่าไร"

บทความโดย - นพ. นพรัตน์ สุจริตจันทร์
บทความโดย : นพ. นพรัตน์ สุจริตจันทร์