02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ต้อหิน... มหันตภัยเงียบ (นพ.ชัยวัฒน์ ฑีฆเสนีย์)

          ทุกๆ 100 คน จะพบคนที่เป็นโรคต้อหิน 1 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ถึงคุณจะโชคไม่ดีถูกรวมอยู่ในจำนวนผู้ป่วยนั่นด้วยก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ ตรงกันข้ามผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินที่รู้จักปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็แทบไม่ต่างอะไรกับคนปกติ ถ้าคุณยังไม่เคยตรวจสุขภาพ และยังไม่มีหมอที่ไหนบอกว่าคุณเป็นต้อหิน นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เป็นและไม่มีความเสี่ยง มาทำความรู้จักโรคนี้กันให้กระจ่าง แล้วคุณจะรู้ว่าต้อหินไม่จำเป็นที่จะต้องจบที่ “ตาบอด”เสมอไป
 

ต้อหินคืออะไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคต้อหิน เป็นต้อชนิดเดียวที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นหรือมีหินเกิดขึ้นภายในดวงตา ซึ่งนายแพทย์ ชัยวัฒน์ ทีฆเสนีย์ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต้อหิน โรงพยาบาลจักษุรัตนิน อธิบายว่ามันคือภาวะที่ความดันภายในลูกตาสูง (มากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท) จนเกิดการกดทับเส้นประสาทตาซึ่งทำหน้าที่รับภาพไปแปรผลในสมอง เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลายจะทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลงและเมื่อเป็นมากขึ้นก็จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหรือตาบอดในที่สุด
 

ต้อหินโดยทั่วไปมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

1. ต้อหินมุมปิด : โรคจะมีอาการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยปวดตา ตามัว ตาแดง และอาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ต้อหินชนิดนี้มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ หากถึงมือแพทย์เร็ว
2. ต้อหินมุมเปิด: เป็นต้อหินชนิดที่เส้นประสาทตาค่อยๆ เสียไป โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว การดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าโดย อาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะตาบอด ต้อหินชนิดนี้หากได้รับการวินิฉัยพบเร็วก็สามารถที่จะเก็บรักษาสายตาส่วนที่เหลือไว้ได้มากกว่าในระยะท้ายของโรค  ปัจจุบันยังไม่อาจรักษาโรคต้อหินมุมเปิดให้หายขาดได้ 
 

ความดันลูกตาสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความดันลูกตาสูงเกิดจากการที่มีระบบหมุนเวียนของของเหลวซึ่งทำหน้าที่นำสารอาหารและขับถ่ายของเสียในดวงตาผิดปกติไป   เกิดมีการอุดตันของท่อระบายของเหลวนี้ ทำให้มีการค้างของของเหลวภายในดวงตาซึ่งมีปริมาตรจำกัด ส่งผลให้ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นไปกดทับเส้นประสาทตาที่อยู่ด้านหลังของลูกตาให้เกิดความเสียหาย จนไม่สามารถส่งสัญญาณภาพไปแปรผลที่สมองได้ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น
 

จะสังเกตอาการของโรคได้อย่างไร

ในทางปฏิบัติแล้วผู้ป่วยต้อหิน ระยะต้นส่วนใหญ่มักไม่สามารถสังเกตได้เองหรือมีอาการแสดงแจ้งให้รู้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของต้อหินแบบมุมเปิด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมองเห็นด้าน บน - ล่าง ซ้าย - ขวา ค่อยๆ แคบลงอย่างช้า ๆ ระหว่างนั้นก็ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ จนกระทั้งการสูญเสียลานสายตาเข้ามาถึงบริเวณตรงกลาง ทำให้ตามัวและเดินชนสิ่งของรอบข้าง จึงมาพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวก็เป็นระยะท้ายๆ ของโรคแล้ว ทำให้ผู้ป่วยอาจต้องเสี่ยงต่อตาบอดในที่สุด
 

มีวิธีการการรักษาเป็นอย่างไร

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าความดันในลูกตาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เส้นประสาทตาเกิดความเสียหาย ดังนั้นการรักษาก็จะเข้าไปลดความดันในลูกตา โดยนายแพทย์ชัยวัฒน์ อธิบายว่า การลดความดันลูกตาในเบื้องต้นเราจะรักษาด้วยการหยอดยา เพื่อให้ของเหลวที่  ค้าง อยู่ภายในลูกตาระบายออกได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในการรักษา ต้องคอยหยอดยาอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อควบคุมความดันลูกตาไว้ ตลอดเวลาและถ้าเมื่อมาถึงจุดที่ไม่สามารถระบายของเหลวที่ท่วมอยู่ภายในลูกตาได้ทัน แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัด โดยการเจาะรูระบายของเหลวนั้นออกมา
นายแพทย์ชัยวัฒน์ เสริมว่าปัจจุบันนวัตกรรมทางจักษุแพทย์ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านการ วินิจฉัยและรักษา ทำให้เราสามารถตรวจหาโรคได้อย่างรวดเร็วและมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ทั้งนี้แนะนำว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจต้อหินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งควรลดปัจจัยเสี่ยงของโรค ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการซื้อยามาหยอดตาด้วยตัวเองเพราะอาจมีตัวยาที่ก่อให้เกิดการอุดตันของท่อระบายของเหลวหรือระวังไม่ให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ
 

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

โรคต้อหินพบได้ตั้งแต่ในเด็กแรกเกิดแต่กลุ่มที่พบได้มากที่สุดคือกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นหรือยาวมาก ผู้ที่มีปานแดง ปานดำ พาดผ่านบริเวณดวงตา ตลอดจนผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา เป็นต้น
 

HOW - TO

แม้การใช้สายตาไปกับการอ่านหนังสือ เล่นไอเพด สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะไม่ทำให้เกิดต้อหิน แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการถนอมสายตา ระหว่างการใช้งานจึงควรเว้นระยะให้กล้ามเนื้อตาได้พักบ้าง ด้วยการมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาไว้สักครู่ให้กล้ามเน้อตาได้ผ่อนคลาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป เพราะหากเพ่งหรือใช้กล้ามเนื้อตาเป็นเวลานานก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดรอบดวงตา ปวดศีรษะ หรือกระตุ้นอาการปวดไมเกรนขึ้นได้ 

บทความโดย - นพ. ชัยวัฒน์ ฑีฆะเสนีย์
ต้อหิน มหันตภัยเงียบ-Hunt คอลัมน์ HEALTH
เรื่องและรูป : ATCHA
บทความโดย : นพ. ชัยวัฒน์ ทีฆเสนีย์