คนส่วนใหญ่ มักพบว่ามีอาการเพลียตา ปวดตา ถ้าใช้สายตามากๆ มีอาการกล้ามเนื้อตาล้า หรืออ่อนกำลัง (CONVERGENCE INSUFFICIENCY) เราสามารถฝึกให้กล้ามเนื้อตาเข้าสู่สภาพปกติได้ หรือทำให้อาการปวดตาไม่สบายตาหายไปด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
อุปกรณ์ในการฝึกกล้ามเนื้อตา
1. ไฟฉายเล็กๆ แบบแท่งดินสอ 1 กระบอก
2. ดินสอ หรือปากกา 1 ด้าม (ในกรณีไม่มีไฟฉาย)
3. อักษรตัวพิมพ์สีดำ ติดปลายไม้ (ในกรณีไม่มีไฟฉาย ดินสอหรือปากกา)
วิธีปฏิบัติ
1. ใช้มือข้างที่ถนัดถือไฟฉายหรือดินสอ แล้วยืดแขนออกไปจนสุด ให้ไฟฉายหรือดินสออยู่ กึ่งกลางของดั้งจมูก ใช้ตาทั้ง 2 ข้างเพ่งตรง ไปที่ไฟหรือปลายดินสอ จะเห็นไฟ 1 ดวงหรือปลายดินสอเพียง 1 เท่านั้น ในกรณีที่เห็นไฟเป็น 2 ดวง อาจจะหลับตาทั้ง 2 ข้าง แล้วลืมตาดูใหม่ พยายามมองให้เห็นไฟเป็น 1 ดวง หรือปลายดินสอเพียง 1 จากนั้นค่อยๆ เลื่อนมาเข้ามาใกล้ตาเรื่อยๆ ช้าๆ
เพื่อจะได้สังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างจุดตั้งต้นกับระยะที่เลื่อนไฟเข้ามา เมื่อใดที่เห็นไฟกับดินสอแยกออกเป็น 2 จุด หรือเริ่มมัวไม่ชัดเจนเหมือนที่เห็นตอนจุกเริ่มต้น ให้ถอยมือกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ในระยะสุดแขน แล้วเลื่อนเข้ามาใหม่ ดึงแขนเข้า-ออก ประมาณ 20 ครั้งแล้วหยุดฝึก
ในกรณีที่ใช้ตัวอักษรสีดำติดปลายไม้ให้มองอักษรตัวพิมพ์สีดำ เริ่มจากการเพ่งดูด้วยตาทั้ง 2 ข้าง โดยให้ตัวอักษรชัดตลอกเวลา เมื่อเลื่อนมือมายังจุดที่มองเห็นตัวอักษรไม่ชัด และไม่สามารถอ่านตัวอักษรได้ให้เริ่มตั้งต้นใหม่
2. ในสัปดาห์แรกของการเริ่มต้นฝึก ต้องทำการฝึกวันละ 3 ครั้งๆ ละ 20 เที่ยว รวมเป็นวันละ 60 เที่ยว ควรทำให้สม่ำเสมอทุกวัน
3. ในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ควรเพิ่มการฝึกให้มากขึ้นโดยฝึกวันละ 3 ครั้งๆ ละ 30 เที่ยว เมื่อฝึกอย่างสม่ำเสมอ อาการกล้ามเนื้อตาล้า หรือปวดตาก็จะดีขึ้นตามลำดับ
ผลข้างเคียงขณะที่ฝึกกล้ามเนื้อตา
ในวันแรกๆ จะมีอาการปวดตาเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากยังไม่เคยออกกำลังกล้ามเนื้อตามาก่อน แต่ให้พยายามฝึกต่อไปจนเกิดความเคยชิน อาการปวดตาก็จะเริ่มน้อยลงและหายไป
ผลที่ได้รับหลังการฝึก
อาการกล้ามเนื้อตาจะหายไป ถ้าปฏิบัติตามที่แนะนำ และควรฝึกอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แม้สบายตาดีแล้วก็ไม่ควรเลิกฝึกในทันที อาจจะลดการฝึกกล้ามเนื้อตาลงเหลือเพียงวันละครั้ง เพราะการหยุดฝึกทันทีจะทำให้อาการกล้ามเนื้อตาล้ากลับคืนมาได้อีก