02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

เปลือกตาบวม

อาการเปลือกตาบวม คืออะไร

โดยเฉพาะสุภาพสตรี เพราะมีผลต่อความงาม บุคลิกภาพ และความมั่นใจ การบวมของเปลือกตาหรือรอบดวงตา จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือเปลือกตาบวมเป็นครั้งคราว และเปลือกตาบวมถาวร
การบวมของเปลือกตาแบบเป็นครั้งคราว หรือบวมๆ ยุบๆ ไม่คงที่ อาการเช่นนี้จะเกิดกับผิวหนังบริเวณเปลือกตาได้บ่อยกว่าผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย เนื่องจากชั้นผิวหนังของเปลือกตามีลักษณะบางและมีความยืดหยุ่นมาก ไม่ได้ยึดติดกับเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ข้างใต้ จึงมีโอกาสซึมซับน้ำไว้ได้มาก

สาเหตุการบวมของเปลือกตา

  • ภาวะเกลือในร่างกายสูงกว่าปกติ - คุณสมบัติประการหนึ่งของเกลือ คือความสามารถในการดึงน้ำจากอาหารเค็มที่รับประทานเข้าไปแล้วกระจายสู่เนื้อเยื่อทั่วร่างกายรวมทั้งเปลือกตา หากเรารับประทานอาหารเค็มมากตอนมื้อค่ำ ในตอนเช้าอาจพบว่าเปลือกตาบวมขึ้น ทั้งนี้เพราะเกลือจะดึงน้ำไว้มาก ตลอดจนผู้ที่ชอบนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง เปลือกตาข้างนั้นอาจจะบวมกว่าอีกข้างก็ได้ เพราะน้ำจะไปขังอยู่มากตามแรงดึงดูดโลก ผู้ที่เป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ จะมีน้ำในร่างกายมากกว่าปกติ จึงทำให้เปลือกตาบวมได้
  • ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย - ฮอร์โมนเพศหญิงมีคุณสมบัติในการดึงน้ำด้วย สตรีบางท่านอาจเกิดอาการบวมของเปลือกตาในขณะมีประจำเดือน หรือรับประทานยาคุมกำเนิด นอกจากจะเกิดจากภาวะเกลือในร่างกายสูงมากกว่าปกติ ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ได้กล่าวไปแล้วยังพบว่ามีสาเหตุอื่น ๆ อีกคือการอักเสบของเปลือกตา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อแบคทีเรืย ทำให้เปลือกตาอักเสบหรือเป็นกุ้งยิง ซึ่งทำให้เปลือกตาบวมแดง ร้อน ปวด และเจ็บเวลากด ส่วนการอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ มีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว น้ำเหลืองรั่วซึมออกมาใต้ผิวหนังทำให้คันจนต้องขยี้ตา มีผลทำให้เปลือกตาบวมมากขึ้นด้วย
  • ไซนัสอักเสบ - ไซนัสเป็นโพรงอากาศที่ติดกับเบ้าตา เมื่อเกิดการอักเสบ อาจทำให้เปลือกตาบวมขึ้นได้
  • การขยี้ตา - ทำให้เกิดการอักเสบจนเป็นอันตรายต่อผิวหนัง และยังทำให้หลอดเลือดฝอยบริเวณเปลือกตาช้ำ จนเกิดการรั่วซึมของน้ำเหลืองหรือเลือดได้ด้วย นอกจากเปลือกตาจะบวมแล้ว อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีคล้ำลงด้วย

สาเหตุของการบวมของเปลือกตาอย่างถาวร

  • การเปลี่ยนแปลงตามวัย - ทำให้ผิวหนังหย่อนยาน และมีก้อนไขมันที่อยู่ภายในห้อยลงมาดันเปลือกตาให้บวมซึ่งเรียกว่า “ถุงน้ำตา”
  • พฤติกรรมส่วนตัวบางอย่าง - อาจมีส่วนเร่งทำให้ผิวหนังเกิดการเสื่อมขึ้นก่อนวัย เช่น การได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) จากแสงแดดมาก การสูบบุหรี่ และดื่มสุรา เป็นต้น
  • ลักษณะทางพันธุกรรม - คนเอเชียจะมีไขมันพอกอยู่มากบริเวณรอบดวงตา เปลือกตาจึงบวมมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น

การรักษาอาการเปลือกตาบวมมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

  • ลดการรับประทานอาหารรสเค็มจัด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยทำให้หัวใจและปอดแข็งแรง การไหลเวียนของโลหิตดีและมีผลทำให้การดูดซึมของเหลวในร่างกายมากขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางประเภทครีม หรือโลชั่นบำรุงความชุ่มชื้นของผิวหนัง (Moisturizer) บริเวณเปลือกตา เพราะบางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการดึงน้ำใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมบริเวณที่ทาได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลเสียต่อระบบไหลเวียนของโลหิต
  • ป้องกันผิวหนังจากรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) โดยทาครีมกันแดดสวมแว่นตาตลอดจนสวมหมวกปีกกว้างหากต้องโดนแดดเป็นเวลานาน
  • การทำผ่าตัดดึงเปลือกตา อาจเป็นทางเลือกสำหรับท่านที่มีปัญหาเปลือกตาบวมแบบถาวร แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เช่น จักษุแพทย์ หรือแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง

บทความโดย จักษุแพทย์ โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน