เบาหวานเป็นภาวะที่เกิดจากความบกพร่องของร่างกายในการเผาผลาญ และสะสมน้ำตาล
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก และในระยะยาวจะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของสายตา ซึ่งสัมพันธ์กับระดับน้ำตาในเลือดที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่คงที่ ทำให้ดัชนีหักเหของแสงเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราว ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยเบาหวานพบว่าสายตามัวลง จะต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพราะจะทำให้เกิดโรคต้อหิน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานได้เร็วขึ้น
โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
หากรักษาไม่ถูกต้องหรือรักษาช้าเกินไป ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสตาบอดได้มากกว่าปกติ 25 เท่า ความรุนแรงที่ทำให้สูญเสียสายตาขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และชนิดของเบาหวาน (ป่วยที่ต้องใช้ยาฉีดอินสุลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล จะมีความรุนแรงของเบาหวานที่เข้าจอตามากกว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดอื่น ถ้าเป็นเบาหวานมานานกว่า 10 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยจะพบว่ามีเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้ ถ้าเป็นมานานถึง 30 ปีจะตรวจพบว่ามีเบาหวานเข้าจอประสาทตาถึง 90% ซึ่ง 30% ของผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นจนถึงขั้นตาบอดได้
ผู้ป่วยเบาหวานจะมีเลือดหนืดกว่าคนทั่วไป และเกล็ดเลือดซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มจะเกาะกันเหนียวแน่นมากกว่าคนปกติ มีผลกระทบต่อการไหลเวียนในเส้นเลือดขนาดเล็ก และเส้นเลือดฝอยทำให้เกิดการอุดตันขึ้นได้
อาการระยะเริ่มแรก
เมื่อเบาหวานเริ่มเข้าจอตา จะพบเส้นเลือดดำในจอรับภาพมีขนาดใหญ่ขึ้น ผนังของเส้นเลือดฝอยจะโป่งพองเป็นกระเปาะ มีส่วนประกอบในเลือดรั่วซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยออกมา ทำให้จุดรับภาพบวม และมีไขมันมาขัง ผู้ป่วยจะเริ่มตามัวไม่สามารถปรับภาพให้คมชัดได้ บางรายตัดแว่นใหม่แต่ไม่ดีขึ้น นอกจากจุดรับภาพจะบวมแล้ว ยังขาดเลือดไปเลี้ยงเพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ตามัวลง
อาการระยะที่สอง
เมื่อเส้นเลือดฝอยมีการอุดตันขึ้นหลายแห่ง เส้นใยประสาทตาจะตายเป็นหย่อมและขยายมากขึ้น ถ้าจอรับภาพขาดเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นจะกระตุ้นให้เส้นเลือดงอกใหม่ ซึ่งผนังของเส้นเลือดพวกนี้จะเปราะ ทำให้แตกง่าย และมีเลือดออกในลูกตา ต่อไปเส้นเลือดจะงอกเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึงขั้นที่มีพังผืดมาก และงอกเข้าไปในน้ำวุ้นตา เมื่อน้ำวุ้นตาเสื่อมสภาพหรือหดตัวตามวัยหรือก่อนวัย จึงกระตุกดึงให้ผนังของเส้นเลือดงอกใหม่นั้นฉีกขาดออก เกิดเลือดออกกระจายในน้ำวุ้นตา ผู้ป่วยจะสังเกตได้โดยเห็นว่ามีอะไรลอยไปมาในลูกตา หรือบางรายที่มีเลือดออกมากก็จะตามัวลงมากในทันที อาจเห็นแค่เพียงมือไหวๆ หรือนับนิ้วได้ในระยะใกล้ เมื่อพังผืดเพิ่มจำนวนมากขึ้นร่วมกับน้ำวุ้นตาหดตัว จึงเกิดการดึงรั้งจอประสาทตาให้หลุดออกมาเป็นหย่อมๆ ถ้าถูกลุกลามถึงบริเวณจุดรับภาพ ตาจะมัวลงมาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจะมีทั้งเลือดออกในน้ำวุ้นตาร่วมกับจอประสาทตาถูกดึงให้หลุดลอกด้วย
ผู้ป่วยที่มีเบาหวานเข้าจอตา จะมีสายตามัวลงจากสาเหตุสำคัญ คือ
1. จุดรับภาพบวม
2. จุดรับภาพขาดเลือดไปเลี้ยง
3. เลือดออกในน้ำวุ้นตา
4. จอประสาทตาหลุดลอกเนื่องจากพังผืดดึงรั้ง
สำหรับระยะเริ่มแรกที่จอประสาทตาบวม และมีเส้นเลือดงอกใหม่ในจอประสาทตา วิธีรักษาที่ได้รับ
ความนิยม และให้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือ การฉายแสงเลเซอร์ ซึ่งโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์นี้ผู้ป่วยไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ เพียงแต่แพทย์จะขยายม่านตาให้เต็มที่ หยอดยาชา และผู้ป่วยต้องกลอกตาไปมาตามทิศทางที่แพทย์สั่ง เพื่อให้แสงเลเซอร์ฉายตกบนจอรับภาพพอดี ผู้ป่วยอาจรู้สึกเคืองตาจากแสงจ้า การฉายแสงเลเซอร์จะแบ่งทำเป็น 3-4 ครั้ง แต่อาจจะมากกว่านี้ถ้ามีเลือดออกในน้ำวุ้นตา เพราะเลือดที่ออกมาบังจอรับภาพทำให้แสงฉายได้ครั้งละไม่มาก
การฉายแสงเลเซอร์จะทำให้บริเวณจุดรับภาพที่บวมดีขึ้น และแสงเลเซอร์จะทำให้เส้นเลือดที่งอกใหม่ฝ่อลง เป็นการลดโอกาสที่จะมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาได้ ผลของการรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ตำแหน่งความเสียหายของจอประสาทตา ระยะเวลาที่จอประสาทตาหลุดลอก และบริเวณของจอประสาทตาที่ขาดเลือดไปเลี้ยง
ถ้าเบาหวานเข้าจอประสาทตาอย่างรุนแรง จนมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือเส้นเลือดงอกใหม่ในจอประสาทตาอย่างเต็มที่ จะมีสารมากระตุ้น ให้เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ทางด้านหน้าของลูกตา ซึ่งทำให้เกิดต้อหินมุมปิดในระยะต่อมา นอกจากทำให้มองไม่เห็นแล้วยังปวดตามาก ต้อหินชนิดนี้รักษายาก เพราะต้องรักษาที่จอประสาทตา แต่เมื่อเกินระยะที่จะผ่าตัดหรือฉายแสงเลเซอร์ได้ การรักษาก็เพียงให้ทุเลาอาการปวดเท่านั้น
การรักษา
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเข้าจอตา ควรปฏิบัติดังนี้
1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
2. ควบคุมความดันโลหิตสูง (ถ้ามี)
3. หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้มีเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติ แตกได้ง่าย เช่น งดการสูบบุหรี่
การเป่าลม ไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอวเพื่อยกของหนัก
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงของจอ
ประสาทตา ถ้าพบว่าเบาหวานเข้าจอประสาทตาตั้งแต่ระยะแรก และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาสายตาให้คงอยู่ได้ก่อนที่จะสายไป ดังนั้น แม้จะไม่มีอาการใดๆ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรตรวจตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
บทความโดยจักษุแพทย์ โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน