02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ต้อกระจก (นพ.นนท์ รัตนิน)

ต้อกระจก

โรคต้อกระจก ปัจจัยหลักคือ อายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าเมื่ออายุมากขึ้น ประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาจากที่ปกติใสเปลี่ยนเป็นมีความขุ่นเกิดขึ้น 

สาเหตุอื่น ๆ ในการเกิดต้อกระจก

1. ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
2. การทานยาบางชนิด เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ มีส่วนในการกระตุ้นที่ทำให้เกิดเป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น
3. ผู้ที่ทำงานที่ต้องโดนรังสี
4. ผู้ที่รับแสงอัลตร้าไวโอเลตเป็นเวลานาน โดยอยู่กลางแจ้งเป็นประจำและไม่ได้สวมแว่นกันแดด เพื่อถนอมดวงตา
5. ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่มีความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์  มีการติดเชื้อ เช่น พวกหัดเยอรมัน เป็นต้น 

อาการ

ต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์ตาจากปกติใสจะมีความขุ่นเกิดขึ้น  เพราะฉะนั้นอาการของผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก มีดังนี้
1. ตามัว เหมือนมีฝ้า หรือหมอกบัง
2. เห็นภาพซ้อน
3. แพ้แสง หรือสู้แสงไม่ได้
4. มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
หากละเลยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ 

การรักษาโรคต้อกระจก

โดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาธรรมชาติเพื่อนำต้อกระจกออก และนำเลนส์ตาเทียมใส่แทนที่ โดยการผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
1. วิธีสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ หรือ “เฟโค” (Phacoemulsification + Intraocular Lens Implantation)
การสลายต้อด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์เป็นวิธีล่าสุดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในปัจจุบัน จักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็ก ๆ ที่ผนังตาขาวประมาณ 3 มม. เพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก และปล่อยคลื่นอัลตร้าซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าสลายและขจัดต้อกระจกจนหมด เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แก้วตาเพื่อเป็นถุงรองรับเลนส์แก้วตาเทียม จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงนี้ เนื่องจากแผลที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธีนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสมานตัวเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล ภายหลังการสลายต้อกระจก ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในทันที และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

2. วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)
เป็นวิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกแข็งตัวมาก จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ จักษุแพทย์จะเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำ และผนังตาขาวบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเพียงเปลือกหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุง แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงนี้ หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผลด้วยไนล่อนชนิดบางพิเศษ

ทำไมต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม

ภายหลังการสลายเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออกแล้ว ดวงตาจะไม่มีเลนส์แก้วตาเพื่อทำหน้าที่รวมแสง มีผลให้สายตายังมัวอยู่ ดังนั้นจักษุแพทย์จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่เพื่อทำหน้าที่รวมแสงให้การมองเห็นเป็นปกติ

วิธีป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก

1. การรับประทานผัก ผลไม้ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะการรับประทาน ผัก ผลไม้ และ สารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้
2. หากทำกิจกรรมหรือการทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางตา ควรใส่แว่นป้องกันอุบัติเหตุทุกครั้ง
3. สวมแว่นตากันแดดก่อนออกกลางแจ้งสม่ำเสมอ
4. ตรวจติดตามอาการ หรือตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การพักฟื้นหลังผ่าตัดต้อกระจก

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยการใช้คลื่นความถี่อัลตร้าซาวด์  หรือเฟโค ใช้เวลาพักฟื้นเร็วมาก จักษุแพทย์จะปิดตาผู้ป่วยในวันแรกหลังผ่าตัด แล้วในวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถใช้สายตาได้ตามปกติ ข้อปฏิบัติตัวที่สำคัญที่สุดคือห้ามโดนน้ำหรือขยี้ตาประมาณ 2 สัปดาห์ และทำตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด




 
บทความโดย : นพ. นนท์ รัตนิน