02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

โรคตาใกล้ตัว : โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม (โดย พญ.หทัยรัตน์ พิพิธวิจิตรกร)

โรคตาใกล้ตัว โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม

ในโลกยุคปัจจุบันนี้มีโรคต่างๆมากมาย โรคหนึ่งซึ่งเป็นโรคเก่าแต่มีเทคโนโลยีใหม่ๆมาในการรักษา ก็คือโรคที่เกี่ยวกับตา พญ.หทัยรัตน์  พิพิธวิจิตรกร จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน จอประสาทตา และต้อหิน รพ.จักษุ รัตนิน ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคตาใกล้ตัวเราไว้ว่า
 

อีกโรคหนึ่งซึ่งมากับความชราคือโรค AMD หรือ โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม

ถ้าเปรียบลูกตาเราเหมือนกล้องถ่ายรูป จอรับภาพเปรียบเหมือนฟิล์มที่เป็นตัวรับภาพ ตัวเนื้อเยื้อประสาทพวกนี้เป็นเนื้อเยื่อบางๆ ที่ขึงอยู่ที่ผนังลูกตาด้านหลังทำหน้าที่รับภาพ และพอรับสัญญาณภาพมาก็จะแปลงสัญญาณภาพเป็นสัญญาณประสาท และส่งไปที่เส้นประสาทตา ไปที่สมอง สมองก็จะเป็นตัวประมวลภาพ
 
โดยธรรมชาติแล้วเซลล์ประสาทตาหรือเซลล์ทั่วร่างกายของเราจะมีการเสื่อมแต่จะเป็นการเสื่อมตัวลงอย่างช้าๆแต่โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม หรือ AMD นี้มีการเสื่อมที่เร็วกว่าอายุ 
                                                                                         

สาเหตุของโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม

จุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมเกิดจากเซลล์ เซลล์ที่แถวบริเวณจุดศุนย์กลาง จอรับภาพ ตัวอย่างเช่น เวลาเราอ่านหนังสือเซลล์ตัวนี้จะเป็นตัวรับภาพตรงที่เราโฟกัส ไปตรงจุดๆนั้น จากนั้นเมื่อเซลล์ตัวนี้มีการค่อยๆตายไป โดยปัจจัยที่ทำให้เซลล์ชนิดนี้ตายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
• ปัจจัยที่ 1 คือ อายุ ถ้ายิ่งอายุมากโอกาสที่เซลล์จะตายเร็วก็จะเพิ่มขึ้น และยิ่งถ้าเราดูแลร่างกายไม่ดี ก็จะเหมือนกับ    เซลล์อื่นๆ                                        
• ปัจจัยที่ 2 คือ การสูบบุหรี่ จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความสึ่ยงในการเสื่อมของเซลล์ตรงนี้    ถึง 4 เท่าถ้าเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
• ปัจจัยที่ 3 คือ ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนจะพบได้บ่อยกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน ซึ่งเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกาย
• ปัจจัยที่ 4 คือ พันธุกรรม หากเรามีคุณพ่อ คุณแม่ หรือพี่น้องสายตรงที่เป็นโรคนี้ โอกาสที่จะเป็นจุดศูนย์กลางจอรับ    ภาพเสื่อมก็จะมีมากกว่าคนทั่วไป
• ปัจจัยที่ 5 คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลในเลือดสูง จะพบว่าเซลล์พวกนี้     จะมีการเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อเกิดความเสื่อมของเซลล์จะทำให้ไปเกิดอาการอะไร

เนื่องจากเซลล์ตัวนี้เป็นตัวรับภาพฉะนั้นหากเกิดความเสื่อมของเซลล์ การที่เรามองไปที่ภาพ จุดที่เรามองหากเป็นระยะเริ่มต้นอาจจะเห็นภาพบิดเบี้ยว จะไม่เบลอเหมือนสายตายาวตามอายุ เพราะ หากเป็นสายตายาวตามอายุ พอใส่แว่นแล้วจะทำให้มองเห็นชัดขึ้น แต่กรณีนี้ใส่แว่นแล้วก็ยังมองเห็นภาพบิดเบี้ยว โดยส่วนใหญ่หากเป็นอาการระยะเริ่มต้นผู้ป่วยจะเห็นภาพบิดเบี้ยวก่อน แต่เมื่อเป็นมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมองไปตรงกลางภาพ จะเห็นภาพมืดไป คือตรงกลางของภาพจะมองไม่เห็น คล้ายวงกลม มืด ๆ เป็นวงกลมดำ ๆ ตรงกลางภาพ                        
 

จุดดำตรงกลางภาพต่างจากจุดบอด (Blind Spot) อย่างไร

จุดบอดโดยทั่วๆไปที่เรียกศัพท์ทางการแพทย์เราเรียกว่า Blind Spot ทุกคนจะต้องมีอยู่แล้ว มันคือจุดที่เส้นประสาทตามาจ่ออยู่ที่ผนังลูกตา ซึ่งจุดนั้นจะไม่มีเซลล์ประสาทในการรับภาพ                                                                                                                           

อาการอื่น ๆ

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม มักจะเป็นทั้งสองข้าง หากมีอาการแล้วโดยทั่วไปอาการจะเกิดที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อน มักจะไม่เกิดพร้อมๆกันสองข้าง คือมักจะมีข้างหนึ่งที่เสื่อมเร็วกว่า แล้วมีอาการก่อน อีกข้างหนึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดตามมาเพราะส่วนใหญ่ตาสองข้างของเรามักจะเสื่อมไปพร้อมๆกัน

หากมีอาการแล้วปล่อยให้เสื่อมไปเรื่อยๆ จะเกิดอะไร

อาการตาบอดในโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่บอดสนิท จะมีโอกาสน้อย น้อยกว่า 1% ที่จะบอดสนิท สูญเสียการมองเห็นไปเลย มืดไปเลย ส่วนใหญ่นี้ก็คือตรงกลางที่จะมองไม่เห็น คือคนไข้กลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ
 

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม

โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม สามารถป้องกันได้ แต่จะไม่ได้ 100% คือ อันที่หนึ่งต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดได้ ที่พบบ่อยคือการสูบบุหรี่ โอกาสที่จะเป็นจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมมีสูงมาก เพราะฉะนั้น การงดสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ลงได้ ส่วนกลุ่มคนที่มีความดันโลหิตสูง คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง ต้องหมั่นดูแลรักษาควบคุมให้อาการคงที่ ส่วนกรณีที่มาจากพันธุกรรม คงไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เพียงแต่การที่ได้รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอจะช่วยดูแลได้ หมายถึง หากผู้ป่วยทราบว่ามีโอกาสที่จะเป็น การตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งโดยจักษุแพทย์ ก็จะช่วยทำให้สามารถพบอาการของโรคได้เร็วขึ้น หากผู้ป่วยได้รับการตรวจเร็ว โอกาสที่ผลการรักษาจะดีจะมีสูง
 

การทานอาหารมีส่วนช่วยป้องกันโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมได้หรือไม่

การศึกษาวิจัยที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อนำผู้ป่วยที่เป็นมีโรคจอรับภาพจุดศูนย์กลางจอรับภาพที่เสื่อมที่เป็นแล้วในตาข้างหนึ่ง จากนั้นนำวิตามินให้ทาน ซึ่งเป็นพวกวิตามินรวม มีวิตามิน A วิตามิน C วิตามิน E สังกะสี ทองแดง พบว่าสามารถชะลอการเกิดโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมในตาอีกข้างหนึ่งได้
 
การรับประทานเท่าที่เราทราบคือ การรับประทานผัก ผักสดใบเขียว ตัวอย่างเช่น ที่มีการสอนเด็กๆให้ทานแครอทแล้วตาจะดี คือ ความจริงเพราะแครอทมีเบต้าแคโรทีน รวมทั้งปลาทะเลน้ำลึกมีโอเมก้าทรี จะช่วยบำรุงเซลล์ แต่เนื่องจากการทานอาหารเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่าทานในคนปกติแล้วจะช่วยชะลอหรือเปล่า แต่จากการที่ศึกษาในผู้ที่เป็นจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมพบว่าช่วยชะลอ   อย่างไรก็ตามอาหารเหล่านี้โดยทั่วไปก็อาจถนอมตาเรา การทานผักทานปลา ปกติไม่ได้ส่งผลเสียหรืออะไรที่เป็นโทษกับร่างกายอยู่แล้ว
                                                                                    

วิธีรักษาการรักษาโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม

หากมีอาการตามที่กล่าวข้างต้นแล้วแนะนำให้รีบมาพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจประเมินดูอาการก่อนว่าเป็นอาการของโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม ประเภทไหน ซึ่ง โรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม     
                                                                                 
• กลุ่มแรกเป็นแบบแห้งคือเซลล์จะค่อยๆ ตายลงช้าๆ ซึ่งในกลุ่มนี้ไม่มีวิธีรักษา นอกจากปล่อยตามธรรมชาติ โดยค่อยๆเสื่อมลงช้าๆ คือระดับสายตาจะแย่ลงช้าๆ ไม่ได้เร็ว กลุ่มนี้ในปัจจุบันก็คือส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยเป็นกัน

• จักษุแพทย์จะเน้นในการรักษาในกลุ่มที่สอง คือ แบบเปียก แบบเปียกคือเมื่อเซลล์มีการเสื่อมแล้วจะมีเส้นเลือดงอกขึ้นมา ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้จะมีน้ำเหลืองรั่วออกมาจากเส้นเลือด และก็บางส่วนสามารถที่จะแตกออกได้เอง คือ เหมือนกับเราเบ่งไอ จาม นิดหน่อยอะไรก็จะแตกเองได้ ทำให้มีเลือดออกอยู่ใต้จอรับภาพจะเห็นเป็นเส้นเลือดแตกตรงตา คือถ้าเส้นเลือดแตกจะมืดตรงกลางทันที     
                                                                                   
การรักษาจักษุแพทย์จะประเมินก่อนว่าเป็นโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อมประเภทใด หากเป็นแบบเปียกก็จะต้องดูลักษณะของเส้นเลือดว่ามีลักษณะอย่างไร เหมาะกับวิธีการรักษาอย่างไหน โดยการฉีดสี ซึ่งเรียกว่า Fluorescence Angiograms ซึ่งคือฉีดยาตัวนึงเข้าไปในเส้นเลือด จากนั้นยาก็จะวิ่งไปที่เส้นเลือดที่ตาแล้วก็ถ่ายรูป เพื่อให้วินิจฉัยอาการได้จากรูปว่าควรใช้วิธีการรักษาแบบไหน                                                                                        
 

การรักษาโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม มีกี่วิธี อย่างไรบ้าง

ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีการรักษามากนัก นอกจากการฉายเลเซอร์ ซึ่งเป็นเลเซอร์ปกติ เป็นเลเซอร์ร้อนคือยิงเข้าไปทำให้เซลล์ตรงนั้นตาย ก็จะทำให้เซลล์ประสาทตาตรงจุดนั้นตายไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยก็ยังคงมองเห็นเป็นจุดดำเหมือนเดิม การยิงเลเซอร์นี้เป็นเหมือนกับป้องกันไม่ให้เส้นเลือดมันแตก เพราะถ้าแตกแล้วพื้นที่ที่ดำมันอาจจะใหญ่มากขึ้นและจะอันตรายกว่าเดิม

ในยุคต่อๆมามีวิทยาการที่เรียกว่า Photodynamic Therapy ซึ่งเป็นการฉีดยาตัวนึงเข้าไปในเส้นเลือด ยาตัวนี้จะไปจับกับเส้นเลือดที่งอกผิดปกติ จากนั้นจักษุแพทย์จะฉายเลเซอร์เข้าไป เลเซอร์ตัวนี้จะถูกดูดด้วยยาเท่านั้น ดังนั้นจะมีเฉพาะเส้นเลือดที่ฝ่อแต่เซลล์ประสาทตาที่อยู่เหนือเส้นเลือดจะไม่เสียไปด้วย

วิธีการรักษาในปัจจุบันคือการฉีดยาเข้าไปในตา หลักการคือเส้นเลือดที่งอกขึ้นมาเพราะมีสารเคมีในตาบางตัวที่สร้างขึ้นมาเยอะกว่าปกติ ยาตัวนี้ก็จะไปจับกับสารเคมีเหมือนกับใม่ให้สารเคมีออกฤทธิ์ เหมือนกับเราไม่ให้ปุ๋ยต้นไม้ เพราะฉะนั้นต้นไม้ก็จะงอกขึ้นมาไม่ได้                                                                                             
 

การฉีดยารักษาโรคจุดศูนย์กลางจอรับภาพเสื่อม ได้ผลแค่ไหน

ผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มต้นการฉีดยาจะทำให้โอกาสที่ระดับสายตาจะดีขึ้นค่อนข้างเยอะ แต่ว่าข้อเสียของการรักษา AMD ในยุคปัจจุบันนี้ คือ ยังไม่มีวิธีการรักษาแบบฉีดยาครั้งเดียวแล้วหายสนิท ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาฉีดเป็นระยะ ระยะ แนะนำว่าควรหา Second Opinion จากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจอประสาทตาอีกท่าน เพื่อยืนยันให้แน่ชัด 
 
การถนอมดูแลรักษาดวงดีที่สุดคือ                                                                                               
• การดูแลเรื่องอาหารที่รับประทาน เลือกทานผักสด ผักใบเขียวทุกชนิด ทานปลาทะเล หรือ ปลาน้ำลึก
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
• สวมแว่นกันแดดที่สามารถกันรังสี UV 100% จะช่วยลดภาวะโรคตาหลายโรค
• เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะพบบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
                                                                                                                                    
บทความโดย : พญ. หทัยรัตน์ พิพิธวิจิตรกร