02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

จอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก

          จอประสาทตาเป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะบางใส ประกอบด้วยใยประสาทและเซลล์ที่มีความไวต่อแสง บุคลุมผนังส่วนหลังด้านในของลูกตา จอประสาทตาทำหน้าที่เหมือนฟิล์มในกล้องถ่ายรูป เมื่อแสงผ่านเข้าสู่ตาและโฟกัสที่จอประสาทตา เซลล์ที่ไวต่อแสงจะทำหน้าที่รับภาพและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งต่อเข้าสู่เส้นประสาทตาและสมองเพื่อแปรภาพที่เห็นตามลำดับ เมื่อจอประสาทตาฉีกขาดและลอกหลุดจากผนังด้านหลังของตา เซลล์ที่ไวแสงจะเริ่มเสื่อมสมรรถภาพจนไม่สามารถส่งภาพเข้าสู่เส้นประสาทตาและสมองได้ ดวงตาจึงเริ่มมีปัญหาในการรับภาพ หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว ตาจะค่อยๆ บอดลงในที่สุด
               

 
          ภาพเหมือนของจอประสาทตา โดย ศ.นพ. อุทัย รัตนิน เมื่อ พ.ศ. 2510 นับเป็นบุคคลแรกที่วาด
จอประสาทตาอย่างละเอียดตีพิมพ์ในวารสารจักษุอเมริกัน ปัจจุบันยังแสดงอยู่ในตำราด้านจักษุของอเมริกาหลายเล่ม

 
                โรคจอประสาทตาลอก มีโอกาสเกิดประมาณ 1 ในประชากรทุกๆ 10,000 คนต่อปี ถึงแม้จะพบน้อยแต่ก็เป็นปัญหาที่ร้ายแรงทางตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่มีสายตาสั้น หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาลอกมาก่อน สาเหตุอื่นที่อาจพบได้อีก คือ การที่ตาถูกกระแทกอย่างแรงและปัจจัยทางกรรมพันธุ์

สาเหตุ
                จอประสาทตาลอกมักเกิดจากการเสื่อมของน้ำวุ้นตา โดยปกติภายในลูกตาจะเต็มไปด้วยน้ำวุ้นใสที่เรียกว่า “น้ำวุ้นตา” เมื่อน้ำวุ้นตาเสื่อมจะเกิดการสลายตัว และเกิดผลกระทบทำให้จอประสาทตาฉีกขาดและหลุด โรคจอประสาทตาลอกที่เกิดจากสาเหตุข้างต้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. จอประสาทตาฉีกหรือเป็นรู
                ปกติน้ำวุ้นตาจะเกาะติดแน่นกับจอประสาทตาที่อยู่ด้านหลังของลูกตา ตามธรรมชาติแล้วเมื่ออายุมากขึ้นน้ำวุ้นตาเริ่มเสื่อม และมีการหดตัว บางครั้งจะดึงให้เนื้อจอประสาทตาบางส่วนฉีกตามไปด้วย และทำให้เกิดรูรั่วที่จอประสาทตา แม้ว่าตามธรรมชาติแล้วน้ำวุ้นตาจะเสื่อมและเกิดการหดตัวเมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็มีเพียงน้อยรายที่มีผลกระทบต่อจอประสาทตา ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้อีก คือ ภาวะสายตาสั้นมาก  การอักเสบภายในลูกตา การที่ดวงตาถูกกระแทกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา
2. จอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก
                จอประสาทตาหลุดลอกเกิดจากมีรูฉีกขาดหรือรั่ว ทำให้น้ำในน้ำวุ้นตาไหลผ่านรอยฉีกหรือรูรั่วที่จอประสาทตาเข้าไปแทรกอยู่ระหว่างชั้นจอประสาทตา และผนังด้านหลังของตา
                นอกจากนี้ยังมีโรคจอประสาทตาลอกซึ่งเกิดจากโรคทางดวงตาอื่นๆ เช่น เนื้องอก การอักเสบอย่างรุนแรง หรือจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน  โรคจอประสาทตาเสื่อมประเภทนี้จะไม่มีรูรั่วที่จะประสาทตา การรักษาจึงต้องมุ่งไปที่สาเหตุของโรคเป็นสำคัญ

อาการ
1.       เห็นเงาดำเป็นจุดหรือเห็นหยากไย่ที่เกิดขึ้นโดยทันที หรือหากเคยเห็นอยู่ก่อนแล้วจะเห็นเพิ่มมากขึ้น
2.       มีไฟแลบเกิดขึ้นทั้งในเวลาหลับตาและลืมตา
3.       มีเงาคล้ายม่านดำมาบัง ทำให้สายตามัวและมืดลงในที่สุด

ข้อควรระวัง
เมื่อเกิดอาการดังกล่าว แม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์อย่างละเอียดทันที เพื่อตรวจดูว่ามีรอยฉีกขาดหรือลอกหลุดของจอประสาทตาหรือไม่ เพราะหากมีแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเกิดโรคจอประสาทตาลอกหลุดขั้นรุนแรงจนตาบอดได้

กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
                ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก มีประวัติจอประสาทตาลอกมาแล้วข้างหนึ่ง มีอุบัติเหตุกระทบกระแทกที่ตามหลังการสลายต้อกระจก และมีประวัติบุคคลในครอบครัวที่เป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคนี้ จึงควรรับการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ

การตรวจและวินิจฉัย
                จอประสาทตาลอกไม่สามารถตรวจพบได้โดยอาศัยการส่องดูแต่เพียงภายนอก หากผู้ป่วยรายใดเกิดอาการผิดปกติตามที่ระบุไว้ หรือมีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูง จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยภายในลูกตาอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือตรวจจอประสาทตา Ophthalmoscope ซึ่งมีแสงสว่างและกำลังขยายสูง ทำให้จักษุแพทย์สามารถตรวจหาตำแหน่งของจอประสาทตาที่ฉีกขาดหรือที่บางผิดปกติ บางครั้งจักษุแพทย์ต้องใช้เครื่องมือพิเศษช่วยในการตรวจวินิจฉัย เช่น กล้องจุลทรรศน์ (Slit Lamp) ประกอบกับคอนแทคเลนส์พิเศษ และเครื่องตรวจตาด้วยความถี่สูง (Ultrasound) เป็นต้น
               
วิธีการรักษา
1. กรณีจอประสาทตาฉีกขาดหรือมีรูรั่ว แต่ยังไม่หลุดลอกออกมา
จักษุแพทย์จะดูจากตำแหน่งของโรค เพื่อพิจารณาว่าจะเลือกวิธีการรักษาวิธีใด ดังนี้
               1.1 การฉายแสงเลเซอร์ที่จอประสาทตา (Argon Multiwavelength)
                จักษุแพทย์จะฉายเลเซอร์ไปรอบรอยฉีกหรือรูรั่ว เพื่อสมานให้เป็นขอบติดแน่นกับผนังด้านหลังภายในลูกตา ทำให้น้ำในน้ำวุ้นลูกตาไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปเซาะจอประสาทตาให้หลุดลอกได้ และภายหลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยทันที โดยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
               1.2 การรักษาโดยใช้ความเย็น (Cryoplexy)
                จักษุแพทย์จะใช้ความเย็นจัดจี้ผนังทางด้านนอกของลูกตาตรงจอประสาทที่ฉีกขาดหรือเป็นรูรั่ว ความเย็นจะสมานรอบรอยฉีกขาดให้เป็นขอบยึดติดกับผนังด้านหลังภายในลูกตา เหมือนการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ หลังการรักษาผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
               
2. กรณีจอประสาทตาฉีกขาดหรือมีรูรั่ว จนทำให้จอประสาทตาหลุดลอกออกมาแล้ว
จักษุแพทย์จะรักษาจอประสาทตาหลุดลอกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
               2.1 ฉีดแก๊ส (Retinopneumoplexy)
            จักษุแพทย์จะทำการฉีดแก๊สเข้าไปในช่องน้ำวุ้นตา เพื่อดันให้จอประสาทตาติดกลับไปที่ผนังด้านหลังภายในลูกตา แล้วฉายแสงเลเซอร์หรือจี้ความเย็นเพื่ออุดรูรั่ว
               2.2 เย็บแผ่นซิลิโคนหนุนผนังตาขาวและรัดสายซิลิโคนรอบลูกตา (Scleral Buckling)
            เป็นการผ่าตัดที่เจาะน้ำใต้จอประสาทตาออกแล้วเย็บแผ่น Silicone Strap (เข็มขัด) รัดรอบลูกตา เพื่อหนุนให้ผนังตาขาวยุบไปแนนติดรูรั่วที่จอประสาทตา และอุดรูรั่วด้วยการฉายแสงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น
               2.3 ผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy)
            จักษุแพทย์จะตัดน้ำวุ้นตาออก เพื่อลดแรงดึงรั้งของน้ำวุ้นต่อจอประสาทตา หรือเพื่อลอกแผ่นพังผืดที่ยึดเกาะจอประสาทตา หลังผ่าตัดจักษุแพทย์อาจเลือกใส่แก๊ส (Gas-Fluid Exchange) หรือ Silicone oil หรือ Perflurocarbon liquid ไว้แทนน้ำวุ้นตาชั่วคราว เพื่อให้เกิดแรงดันกดจอประสาทตาให้กลับติดตั้งดังเดิม
 
               กว่า 85%- 90% ของผู้ป่วยจอประสาทตาลอก สามารถรักษาให้หายได้โดยการรักษาเพียงครั้งเดียว แต่
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคจอประสาทตาลอกแบบซับซ้อน อาจต้องเข้ารับการรักษามากกว่า 1 ครั้ง
 
                สำหรับการระงับความรู้สึกขณะรักษาด้วยวิธีตัดน้ำวุ้นตาและวิธี Scleral Buckling จะเลือกใช้วิธีดมยาสลบหรือการระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและระยะเวลาของการผ่าตัด ผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาลอกชนิดที่ไม่ซับซ้อน สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังผ่าตัด แล้วกลับมาตรวจตาในวันรุ่งขึ้น แต่บางรายอาจต้องอยู่ในโรงพยาบาล 1 - 3 วัน ตามความต้องการของผู้ป่วยหรือแพทย์ ในกรณีต้องดูแลอย่างใกล้ชิดหากมีความซับซ้อนในการรักษา ส่วนผู้ป่วยที่ต้องฉีดแก๊สในน้ำวุ้นตา จะต้องนั่งหรือนอนคว่ำหน้าไประยะหนึ่งจนกว่าจอประสาทตาจะติดแน่น
                ผู้ป่วยบางรายที่เป็นจอประสาทตาลอกชนิดรุนแรงและเรื้อรัง จะมีพังผืดหนาแน่นยึดแผ่นจอประสาทตาที่ลอกให้หดตัวรวมกันเป็นขยุ้ม กรณีนี้จักษุแพทย์อาจไม่สามารถคลี่แผ่นจอประสาทตาให้กลับมาติดได้ดังเดิม ผู้ป่วยจะค่อยๆสูญเสียการมองเห็นจนตาบอดในที่สุด
               
                ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของโรคจอประสาทตาหลุดลอก จะต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อตรวจตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ และได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที