02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน

จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานคืออะไร

            เบาหวานเกิดจากความบกพร่องของร่างกายในการเผาผลาญและสะสมน้ำตาล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีผลทำให้สายตามัวในผู้ป่วยบางราย เพราะกำลังสายตาเปลี่ยนไปมาตามระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่คงที่  ซึ่งในระยะยาวขนาดของหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทั่วร่างกาย และมีผลกระทบต่อดวงตาของผู้ป่วยหลายด้าน โดยเฉพาะภาวะจอประสาทตาเสื่อมและต้อหิน ซึ่งสามารถทำให้ตาบอดได้ในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังมีโอกาสเป็นต้อกระจกได้เร็วกว่าธรรมดา เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไป

เบาหวานระยะที่ 1 เส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นบนจอประสาทตา
เบาหวานระยะที่ 2 เส้นเลือดฝอยแตกและเลือดไหลในน้ำวุ้น ทำให้สายตามัวลง

 

สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน

            จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานเป็นอาการแทรกซ้อน โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงจอประสาทตา บางกรณีหลอดเลือดอาจมีขนาดไม่คงที่ โดยบางส่วนอาจมีขนาดโตกว่าปกติสลับกับคอดเล็กเป็นปล้องๆ ในกรณีที่รุนแรงจะมีหลอดเลือดฝอยเกิดใหม่ที่แตกกิ่งก้านงอกจากจอประสาทตาเข้าไปในน้ำวุ้นตา ผนังของหลอดเลือดใหม่เหล่านี้จะเปราะบางกว่าปกติ และเมื่อหลอดเลือดแตกเลือดจะไหลเข้าไปในน้ำวุ้นตาทำให้สายตามัวลงอย่างเฉียบพลัน จอประสาทตาเป็นส่วนของตาที่ทำหน้าที่รับภาพเหมือนกับฟิล์มในกล้องถ่ายรูป ภาพที่ปรากฎบนจอประสาทตาจะถูกส่งผ่านเส้นประสาทตาเข้าสู่สมอง ดังนั้น หากจอประสาทตาเสียหาย หรือเลือดไปเลี้ยงจอประสาทตาไม่เพียงพอ ภาพที่ไปยังสมองก็จะมัวลง

            ผู้ที่เริ่มป่วยเป็นเบาหวานหลังอายุ 30 ปี และป่วยนานกว่า 15 ปี จะมีโอกาสที่จอประสาทตาเปลี่ยนแปลงจากภาวะเบาหวาน ซึ่งจักษุแพทย์ตรวจพบได้สูงถึง 60% สำหรับผู้ที่เริ่มป่วยเป็นโรคเบาหวานก่อนอายุ 30 ปี และป่วยนานกว่า 15 ปี จะมีโอกาสที่จอประสาทตาเปลี่ยนแปลงสูงถึง 98%

            จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า จอประสาทเสื่อมจากเบาหวานเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการสูญเสียการมองเห็น และอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติได้จะมีโอกาสตาบอดสูงกว่าคนปกติถึง 25 เท่า
 

อาการระยะแรก (Non-Proliferative Retinopathy)

            อาการระยะแรกมักไม่มีผลรุนแรงต่อสายตา ประมาณ 80% ของผู้ป่วยไม่มีการมัวลงของสายตา ผู้ป่วยมักจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติใดๆ ยกเว้นในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ ซึ่งจะมีผลให้กำลังสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งนี้ อาการในระยะนี้จะสามารถตรวจพบได้โดยการวินิจฉัยของจักษุแพทย์เท่านั้น
            - มีความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอประสาทตา ซึ่งอาจจะหดและขยายตัวจนมีขนาดไม่สม่ำเสมอ ผนังเส้นเลือดบางส่วนอาจโป่งพองเป็นกระเปาะ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
            - เกิดอาการจอประสาทตาบวม เลือดหรือน้ำเหลืองซึมผ่านผนังเส้นเลือดที่เปราะบาง และมาสะสมที่เนื้อเยื่อของจอประสาทตา
ในกรณีที่น้ำเหลืองซึม และเซาะเข้าไปถึงศูนย์กลางจอประสาทตา ซึ่งเป็นจุดควบคุมความคมชัดของสายตานั้น สายตาของผู้ป่วยจะพร่ามัวมองเห็นไม่ชัดเจน ในบางกรณีอาจถึงขั้นไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันตามปกติได้

คำเตือน

            ในกรณีสตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่เป็นโรคความดันโหลิตสูงร่วมกับเบาหวาน จอประสาทตาอาจเสื่อมเร็วและรุนแรงกว่าผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเพียงโรคเดียว

อาการระยะที่สอง ( Proliferative Retinopathy)

            อาการในระยะที่สอง เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาอุดตัน นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้สายตามืดมัวลงจนอาจสูญเสียการมองเห็นในที่สุด เมื่อถึงระยะนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที เพราะการรักษาเพื่อป้องกันมิให้ตาบอดจะยุ่งยากมากขึ้น
- เมื่อเข้าสู่ระยะที่สอง ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการตามัวลงเฉียบพลันโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากมีหลอดเลือดผิดปกติงอกใหม่จากผิวหน้าของจอประสาทตาหรือขั้วประสาทตา หลอดเลือดใหม่นี้มีผนังเปราะบางและเมื่อแตก เลือดจะไหลเข้าไปในน้ำวุ้นตา ทำให้น้ำวุ้นตาขุ่นและบังภาพที่เข้าสู่จอประสาทตา
- บางรายอาจเกิดพังผืดบนจอประสาทตา พังผืดนี้สามารถดึงรั้งจอประสาทตาให้ลอกหลุดจากผนังตาด้านหลัง ทำให้สายตาของผู้ป่วยมืดลง
- บางรายอาจมีหลอดเลือดงอกใหม่บนผิวหน้าของม่านตา ทำให้เกิดโรคต้อหินแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น

การตรวจวินิจฉัยโรค

            วิธีป้องกันอันตรายจากจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานที่ดีที่สุด คือ เมื่อทราบว่าเป็นเบาหวาน ให้เข้ารับการตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์อย่างละเอียดเป็นระยะๆ หากพบอาการจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยในขั้นต่อไปว่ามีหลอดเลือดเส้นใดผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกมาหรือไม่ ในการตรวจขั้นตอนนี้ จักษุแพทย์จะฉีดสารที่เรียกว่า "ฟลูออเรสซีน" เข้าทางหลอดเลือดดำที่แขนของผู้ป่วย เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมในหลอดเลือด สารดังกล่าวจะไหลเวียนไปตามหลอดเลือดที่จอประสาทตา เพื่อถ่ายรูปจอประสาทตาด้วยความถี่สูง เมื่อภาพปรากฎชัดเจนว่ามีการรั่วซึมออกมาจากหลอดเลือดเส้นใด จักษุแพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจได้ว่าจะทำการรักษาด้วยวิธีใด

วิธีการรักษา

            จักษุแพทย์จะพิจารณาถึงอายุ ประวัติการรักษาเบาหวานและวิธีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนความรุนแรงของโรคที่จอประสาทตา ก่อนตัดสินใจว่าจะรักษาหรือจะติดตามดูอาการเป็นระยะๆ

            ปัจจุบัน จักษุแพทย์จะพิจารณา การฉีดยาเข้าวุ้นตา (Anti vascular endothelial growth factor) เพื่อลดการรั่วซึมของน้ำเหลืองที่ออกจากหลอดเลือดและช่วยทำให้เส้นเลือดผิดปกติที่งอกใหม่ฝ่อลงด้วย ลดการบวมของจุดภาพชัด ซึ่งจะช่วยการมองเห็นดีขึ้น ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ทั้ง anti-VEGF และยาใหม่ anti-VEGF/anti-Ang-2 ที่นอกจากจะช่วยลดการรั่วซึมของหลอดเลือดใหม่ ยังสามารถทำให้หลอดเลือดคงสภาพได้นานขึ้น จึงสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ช่วยยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดยาแต่ละครั้งได้นานขึ้น ลดจำนานครั้งที่ฉีดยาลงได้โดยที่ยังคงการมองเห็นได้ดี ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาและช่วยลดภาระการมาโรงพยาบาล เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไข้ได้ ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ทั้งประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและความถี่ในการฉีดยา การเลือกยาชนิดใดนั้นควรปรึกษาแพทย์
            หลังจากนั้น จักษุแพทย์จะพิจารณา การฉายแสงเลเซอร์ไปที่จอประสาทตา เพื่อรักษาอาการจอประสาทตาเสื่อม วิธีนี้เป็นการใช้ความร้อนกระตุ้น เพื่อห้ามการไหลซึมของน้ำเหลืองออกจากเส้นเลือดในผู้ป่วยที่จอประสาทตาบวม ในกรณีที่เกิดการงอกใหม่ของหลอดเลือดที่ผิดปกติ จักษุแพทย์จะฉายแสงเลเซอร์เพื่อลดการงอกใหม่ของหลอดเลือดดังกล่าว และช่วยยืดจอประสาทตาให้ติดแน่นกับเนื้อเยื้อชั้นที่อยู่ด้านหลัง

การรักษาด้วยเลเซอร์

            เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะจอประสาทตาเสื่อม หรือบวมในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉายแสงเลเซอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งการรักษาเลเซอร์ในระยะเริ่มแรกนี้จะช่วยลดการลุกลามของโรคในบริเวณข้างเคียง หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยการฉายแสงเลเซอร์ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โอกาสที่จะเกิดสายตามัวมากภายใน 3 ปี แรก จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาถึง 1 เท่าตัว
            สำหรับผู้ป่วยที่จักษุแพทย์ตรวจพบจอประสาทตาเสื่อมในระยะสองหรือระยะที่มีอาการรุนแรง การรักษาจะทำเพื่อการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียการมองเห็นมากไปกว่าเดิม โดยผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์อย่างน้อย 3 ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยเริ่มรับการรักษาในระยะนี้ โอกาสที่จะสูญเสียการมองเห็นภายใน 2 ปีแรก ก็จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาถึง 1 เท่าตัวเช่นกัน
            การฉายแสงเลเซอร์อาจไม่สามารถทำกับผู้ป่วยบางรายได้ เช่น ผู้ที่เลือดออกในน้ำวุ้นตา เพราะลำแสงไม่สามารถผ่านความขุ่นไปถึงจอประสาทตาได้ จักษุแพทย์อาจทำการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาหรือผ่าตัดล้างเลือด (Vitrectomy) ออกก่อนที่จะฉายแสงเลเซอร์เพื่อให้ลำแสงสามารถผ่านความขุ่นไปถึงจอประสาทตาได้ ในผู้ป่วยบางราย จักษุแพทย์อาจรอดูอาการเพราะเลือดอาจจางหายไปได้เองตามธรรมชาติ แต่ถ้ามีอาการจอประสาทตาหลุดลอกรวมอยู่ด้วยต้องผ่าตัดทันที เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ ในที่สุด ตาจะบอดภายในระยะเวลาอันสั้น

การป้องกันโรค

            ความสำเร็จของการรักษาเบาหวานที่จอประสาทตาไม่ได้ขึ้นกับการวินิจฉัยโรคได้ในระยะแรกๆ หรือการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดของจักษุแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยการดูแลตนเองเป็นอย่างดี โดยต้องควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำ โดยกระทำอย่างสม่ำเสมออีกด้วย
            สำหรับผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรกเริ่ม การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย เป็นสิ่งที่ดีและไม่มีปัญหาใดๆ แต่ถ้าเบาหวานที่จอประสาทตารุนแรงถึงระยะที่สอง ซึ่งมีหลอดเลือดผิดปกติงอกแล้วนั้น ก็ควรออกกำลังกายแต่พอประมาณไม่หักโหม โดยต้องหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องมีการกระทบกระเทือนรุนแรง ต้องสะบัดศีรษะ หรือ ต้องเบ่งเกร็งกล้ามเนื้อ เป็นต้น
 

ตาบอดจากเบาหวานสามารถป้องกันได้

            การตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตาบอดจากเบาหวาน ดังนั้น แม้จะไม่มีอาการใดๆ ก็ควรจะได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง และเมื่อพบการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาจากเบาหวานแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจอย่างต่อเนื่อง ตามการนัดหมายของแพทย์ โดยจักษุแพทย์จะได้ให้การรักษาได้ทันเวลาก่อนที่สายตาจะเสื่อม