02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

เปลี่ยนกระจกตาด้วยวิทยาการใหม่ ภาค 2 (พญ.ภัทรมน บรรณประดิษฐ์)

ผู้ป่วยรายนี้ก็เป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคกระจกตาเสื่อมทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ตอนแรกผู้ป่วยมาด้วยอาการตามัวในตาขวา หลังจากผู้ป่วยมีประวัติได้ไปผ่าตัดสลายต้อกระจกใส่เลนส์เทียมมาก่อนประมาณสักหลายๆเดือนก่อนหน้านั้น ทีนี้เราเห็นว่ากระจกตาด้านหน้าขวานี่มัว เราก็เลยผ่าตัดด้วยวิธี DMAEK ซึ่งตอนนั้นก็ประมาณตุลาคม 2555 ก็ถือว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย ที่ทำการผ่าตัดวิธีนี้และประสบความสำเร็จ แล้วก็ในผู้ป่วยคนนี้เราจะใช้กระจกตาดวงเดียว
ซึ่งเราใช้ส่วนหน้ากับผู้ป่วยอีกรายหนึ่ง แล้วก็ใช้ส่วนหลังกับผู้ป่วยรายนี้ ส่วนอีกข้างนึงประมาณ 1 ปีต่อมา ผู้ป่วยก็มีอาการกระจกตาขวาบวมน้ำเหมือนกัน ซึ่งในตาซ้าย ข้างที่ 2 ผู้ป่วยมีต้อกระจกอยู่ด้วย หมอแนะนำผู้ป่วยว่าจะสลายต้อกระจกใส่เลนส์ตาเทียมก่อน แล้วอีก 1 เดือนต่อมา เราถึงจะเปลี่ยนกระจกตาให้
 
ซึ่งเราก็ใช้วิธี DMAEK เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผู้ป่วยก็เป็นผู้ป่วยรายแรกเลยที่เปลี่ยนกระจกตาวิธี DMAEK ทั้งสองข้าง แล้วประสบความสำเร็จ แล้วผลก็ดีมาก เนื่องจากเราพบว่าในตาขวาก็เกิน 1 ปีมาแล้ว กระจกตาก็ยังใส แล้วก็ผู้ป่วยก็ยังสามารถมองเห็นได้ตามปกติด้วย เรียกว่า 20/20 ด้วยแว่นที่มีค่าสายตาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตอนที่หลังผ่าตัดตาซ้ายได้ 1 เดือน หลังเปลี่ยนกระจกตาได้ 1 เดือน ผ่าตัดต้อกระจก 2 เดือน การมองเห็นตาเปล่าดีกว่าตาขวาอีก เนื่องจากตอนผ่าตัดสลายต้อกระจก เราใส่เลนส์เทียมแบบแก้สายตาเอียงไปด้วย ก็ถือว่าผู้ป่วยรายนี้ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาด้วยวิธีใหม่ทั้ง 2 ข้างเลย
 
เนื่องจากว่ามันมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนของกระจกตา เราก็จะพยายามใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ก็คือถ้าเราสามารถที่จะนัดผู้ป่วย 2 ท่าน มาในวันเดียวกันเราก็จะทำผ่าตัด อาจจะทำผ่าตัดด้วยวิธีการเปลี่ยนกระจกตาด้านหน้าก่อนในผู้ป่วยที่เป็นโรคของกระจกตาส่วนหน้า ก็คือใช้วิธี DALK แล้วก็ส่วนด้านหลังของกระจกตา ก็คือชั้นที่ 4 ชั้นที่ 5 ก็เอามาใช้ผ่าตัดวิธี DMEK ได้ ซึ่งส่วนใหญ่นี้ เราก็พยายามที่จะใช้ในวันเดียวกัน จะไม่เก็บไว้ แล้วก็เราถือว่ายิ่งสดยิ่งดี แต่ว่าถ้าตามทฤษีจริงๆ น้ำยาแช่จะสามารถเก็บดวงตานั้นไว้ได้ประมาณ 2 อาทิตย์
 
เชื่อว่าตั้งแต่มีการผ่าตัดแบบใหม่ วิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมซึ่งต้องเปลี่ยนทุกชั้นของกระจกตาน่าจะทำลดลง เพราะว่าเราเห็นแล้วว่าผลที่ได้ ข้อดีทั้งหลายดีกว่าวิธีดั้งเดิมเยอะมาก เพราะฉะนั้น เราอาจจะยังมีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบวิธีดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง แต่ว่าอาจจะน้อยลงมาก เหมือนกับว่า ถ้าเรามีความผิดปกติของกระจกตา ทำไมเราต้องเปลี่ยนทุกชั้น ในเมื่อเราเลือกเปลี่ยนบางชั้นได้ และโอกาสของการประสบความสำเร็จก็คือตัวกระจกตาใสในระยะยาว มันเพิ่มขึ้นเยอะ โอกาสความเสี่ยงของการผ่าตัดน้อยลง
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีใหม่ก็ยังถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่า ยากกว่า แล้วก็ต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถผ่าตัดได้อย่างสบายใจหรือว่าง่ายขึ้น คงไม่ใช่เรื่องที่เราเปลี่ยนได้เร็ว แต่แนวโน้มคิดว่าในระยะยาวการผ่าตัดแบบดั้งเดิมก็จะน้อยลงไปมากในที่สุด
 

ขอแบ่งเป็นระยะแรกกับระยะยาว

- ระยะแรกก็อาจจะประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด สำคัญเลยก็คือการดูแลในเรื่องของความสะอาด ห้ามน้ำเข้าตาประมาณ 1 เดือน ทำอย่างไรบ้าง ก็คือเอาผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดเช็ด หากต้องการสระผมก็ไปนอนสระที่ร้าน อย่าสระเองเพราะอาจเกิดอันตรายจากน้ำเข้าตาได้

- เวลากลางวัน คือ การใส่แว่นป้องกันฝุ่น ป้องกันลม มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบดั้งเดิม แผลจะไม่แข็งแรง โอกาสกระแทกแล้วเกิดแผลแตกได้ หมอมีผู้ป่วยที่โดนคนใกล้ตัวบิดขี้เกียจไปชนตา หรือว่าล้างหน้าแล้วนิ้วจิ้มตา แล้วแผลแตกก็มี เพราะฉะนั้นเราต้องระวังอย่างมาก กลางวันเราต้องมีแว่น ใส่แว่นป้องกันการกระแทกตลอดเวลา

- กลางคืน ครอบฝาครอบตา เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือนแรก จำเป็นมาก เพราะว่าแผลยังไงก็ยังไม่แข็งแรง สำหรับผู้ป่วยที่เปลี่ยนกระจกตาแบบดั้งเดิม แบบนั้น ในระยะยาวคือกลางวันต้องมีแว่นใส่ตลอดอันนี้แนะนำเลย กลางคืนต้องครอบฝาครอบตาก่อนนอนเพื่อกันการเผลอขยี้ตาระหว่างนอนหลับหรือนอนคว่ำแล้วเกิดการกดทันที่ดวงตา แต่ในระยะยาวตอนเวลากลางคืนอาจขึ้นอยู่กับความเหมาะสมโดยแพทย์จะให้คำแนะนำอีกที แต่เวลากลางวันยังคงจำเป็นอยู่

- ในเรื่องของผู้หญิง ให้งดในเรื่องของเครื่องสำอางรอบดวงตาใน 1 เดือนแรก

- การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดเหงื่อ ใน 1 เดือนแรก อาจงดเว้นไปก่อน เพราะเหงือจะไม่สะอาดอาจไหลเข้าตาข้างที่ผ่าตัดได้

- การหยอดยาก็ใช้ตามหมอแนะนำและมีตารางให้ปฏิบัติตาม หากมีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้นกับตาข้างที่ผ่าตัด แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ โดยสามารถเข้ามาตรวจก่อนการนัดติดตามอาการครั้งต่อไปได้

- ส่วนในระยะยาวเราจะบอกผู้ป่วย มี 4 อาการ ที่จะต้องมาหาหมอก่อนวันนัดตรวจติดตามอาการครั้งต่อไป ก็คือ คำย่อ R S V P
 

R = Red eye

ถ้าผู้ป่วยหลังผ่าตัดไป มีตาแดงขึ้นมา อันนี้ถือว่าผิดปกติ ถ้าไม่แน่ใจว่าแดงแบบไหนควรจะกลับมา ถึงแม้ว่าอีก 2 -3 วัน อีก 1 อาทิตย์มีนัด อันนี้ต้องมาก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก

S = Sensitive to light

การสู้แสงไม่ได้ ถ้าสู้แสงไม่ได้แสดงว่าผิดปกติ

V = Vision loss

การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ต้องบอกเลยว่าหลังผ่าตัดแรกๆจะยังเห็นไม่ค่อยดี แต่เวลาผ่านไปมันจะต้องค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ จะดีขึ้นเร็วหรือดีช้าก็ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด ซึ่งอันนี้ถ้าเกิดว่ากลับบ้านไปการมองเห็นแย่ลงอันนี้ต้องมาพบแพทย์ก่อนได้เลย

P = Pain

ปวด เคือง ต้องมาก่อน

R S V P 1 ใน 4 นี้ ไม่ว่ามีอะไรผิดปกติต้องมาก่อน เพราะอาจจะเกิดได้
1. ก็คือว่าเป็นการติดเชื้อหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการผ่าตัดทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยงเรื่องของการติดเชื้อ
2. ก็คือเรื่องของการต้านกระจกตา ซึ่งการต้านกระจกตา เนื่องจากกระจกตาถ้าเทียบกับอวัยวะอื่น ตับ ไต หัวใจ ปอด ที่มีการเปลี่ยนอวัยวะ กระจกตาถ้าเป็นอวัยวะที่ถ้าเปลี่ยนแล้วประสบความสำเร็จที่สุด เพราะอะไร เพราะว่ากระจกตาไม่มีเส้นเลือดโอกาสต้านน้อย
 
เราเห็นว่าการเปลี่ยนกระจกตาในครั้งแรกในกระจกตาที่ไม่มีเส้นเลือดเข้าไปเลย ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับยากดภูมิ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวเหล่านี้ เราบอกว่าอาจจะเป็นการต้านกระจกตาหรือเปล่า ถ้าเข้ามาดูหมอบอกว่าเป็นการต้านกระจกตา ส่วนใหญ่ถ้าเราเข้ามาเร็ว ยาช่วยได้ กระจกตากำลังจะขุ่นจะบวมมันกลับมาใสได้ด้วยยา แต่ถ้าเราทิ้งไว้หลายวัน กลับมามันอาจจะขุ่นถาวรต้องมาเปลี่ยนใหม่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นคนไข้ต้องทราบว่ามันมีความสำคัญ เรื่องนี้ หรือว่าผู้ป่วยที่มีไหมเย็บเยอะ เช่น เปลี่ยนกระจกตาแบบดั้งเดิม หรือว่าเปลี่ยนกระจกตาแบบวิธี DELK คือเปลี่ยนเฉพาะด้านหน้าจะเหมือนกับวิธีดั้งเดิมเลย เพราะฉะนั้น ถ้ามีอาการเหล่านี้อาจจะเป็นไหมขาดหรือโผล่หรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อหรือการต้านกระจกตาได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเข้ามาถึงจะทราบว่ามันเป็นสาเหตุจากอะไร
 
อันนี้ก็แนะนำว่าควรจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็ถ้ามีข้อสงสัยว่ายาหมดแล้วต้องใช้ยาต่อไหม ก็ต้องเข้ามาดูหรือโทรเข้ามาถามว่าจำเป็นต้องใช้ไหม เพราะว่ายาทุกตัวมีความสำคัญ ไม่อยากให้ปรับยาเอง เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะต้องใช้ยาอะไรยังไงบ้าง
 
เทคโนโลยีทุกวันนี้ก็มีคุณหมอหลายๆท่านในต่างประเทศ ซึ่งวิจัยแล้วก็พยายามที่จะคิดว่ามีวิธีไหนที่จะทำให้ได้ผลดีที่สุด ในปัจจุบันนี้ถ้าเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบดั้งเดิม ถ้าเราใช้เป็นใบมีดกลมๆปั่น เราจะพบว่าแผลจะเป็นแผลตรงอย่างเดียว
 
มีเหมือนกันที่ใช้เลเซอร์เข้ามา แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาด้วยการใช้เลเซอร์อย่างเดียวนี้ คือใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ก็ช่วยในขั้นตอนบางขั้นตอน เช่น แทนที่เราจะปั่นเป็นแผลตรงๆ เราก็จะมีการดีไซน์ให้แผลมีลักษณะเหมือนเป็นหมวก คือแทนที่จะเป็นแผลตัดตรง ก็จะมีสเต็ปทำให้การสมานแผลหวังว่ามันแข็งแรงขึ้น หรือว่าใช้เลเซอร์ปั่นทำให้เนื้อเยื่อที่เราเอาออกกับเนื้อเยื่อใหม่ ให้มีขนาดที่มันพอดีกัน ทำให้เราหวังผลว่าโอกาสการที่จะเกิดสายตาเอียงมันน้อยลง
 
หรือว่าใช้เลเซอร์เพื่อช่วยในการผ่าตัดวิธี DSEK ก็คือแทนที่เราจะใช้ใบมีดที่หมอเล่าว่าตัดเหมือนทำเลสิคแต่ไม่มีบานพับ แล้วก็ตัดลึก แทนที่จะใช้ใบมีดตัดก็ใช้เลเซอร์ตัด แต่ว่าก็ยังต้องมีการผ่าตัดอยู่ดี ก็คือเพิ่มขั้นตอนของเลเซอร์เข้ามา
 
ถามว่าแตกต่างกันขนาดไหนก็ไม่ได้คิดว่าแตกต่างกันมาก แต่ว่าอย่างวิธี DALK อย่างนี้ก็มีเหมือนกันที่ใช้เลเซอร์เข้ามาช่วย เช่น เลเซอร์นี้จะช่วยตัดผ่านส่วนหน้าบางส่วนออกก่อนแล้วก็ถึงจะฉีดอากาศเข้าไปแยก ชั้นที่ 3 กับ ชั้นที่ 4 ให้แยกจากกัน แต่ถามว่าถ้าเราไม่มีเลเซอร์เราทำได้ไหม ทุกวิธีที่หมอกล่าวมาเราทำได้โดยที่เราไม่ต้องใช้เลเซอร์เลย ซึ่งเลเซอร์เองข้อดีก็มี แต่ว่าเราอาจจะต้องคำนึงว่าเราเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นหรือเปล่า เพิ่มขั้นตอนขึ้นไปหรือเปล่า แล้วมันคุ้มค่าขนาดไหนกับการที่เราเพิ่มขั้นตอนเข้าไป
 
ส่วนในอนาคต หมอมองว่าการวิจัย ก็ยังมีว่าเราใช้เซลล์ต้นกำเนิดหรือ stem cell มาเพาะข้างนอก ก็มีหลายๆประเทศ อย่างต่างประเทศ เราก็เริ่มทำการวิจัยแล้วว่า เราเอาเซลล์ต้นกำเนิดออกมาเพาะแล้วก็ใส่กลับเข้าไปในตา ซึ่งอาจจะทำให้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามันง่ายขึ้น แทนที่เราจะต้องไปรับบริจาคจากคนอื่น
 
ซึ่งอันนี้ก็อาจจะตัดปัญหาเรื่องของการต้านกระจกตาไปได้เลย เพราะเป็นเซลล์ของเราเอง กับอีกอันก็คือเรื่องของผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ กระจกตาเป็นส่วนที่ถ้าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์และทำให้มันขุ่นหรือมันบวมน้ำ ซึ่งถ้าในอนาคตเรามีการตัดต่อยีนทำให้ลูกหลานของคนนั้นที่เขามีโรค ตัดส่วนที่ผิดปกติออกไป ลูกหลานเขาจะไม่มีโรค อันนี้ก็คือในอนาคตเป็นการป้องกันในแง่ว่าถ้ากระจกตาเขาเกิดมาปกติเราก็ไม่ต้องทำผ่าตัด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งในอนาคตหมอหวังว่าวิวัฒนาการเหล่านี้อาจจะมีอะไรที่พัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ไม่ต้องมาทำอะไรที่ยาก หรือว่าใช้วิธีการเรียนรู้เยอะแบบผ่าตัดใหม่ๆอย่างนี้ก็เป็นไปได้
บทความโดย : พญ. ภัทรมน บรรณประดิษฐ์