1. ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี
ดวงตาเป็นหนึ่งอวัยวะที่ซับซ้อน และอาการระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการ การเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตากับจักษุแพทย์ พร้อมเครื่องมือเฉพาะทาง จะช่วยให้จักษุแพทย์ค้นหาสิ่งผิดปกติที่ซ่อนอยู่ด้านในของดวงตาที่ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้และยังไม่แสดงอาการ เพื่อป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที2. หมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่ผิดปกติต่อดวงตา เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ได้ดังนี้
2.1 ตาแห้งสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาจเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน การใช้ยาบางชนิด หรือการไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งในผู้หญิงสูงวัยสามารถเกิดอาการตาแห้งได้จากภาวะการขาดฮอร์โมนเพศ จากการหมดประจำเดือน ส่งผลให้การผลิตน้ำตาน้อยลง โดยอาจส่งผลให้มีอาการเหล่านี้ ไม่สบายตา แสบร้อนดวงตา คันตา เคืองตา มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ เป็นต้น สามารถแก้ไขเบื้องต้น โดยการป้องกันภาวะตาแห้งจากสภาพแวดล้อม ด้วยการสวมใส่แว่นตากันลม หรือหยอดน้ำตาเทียม กรณีรู้สึกตาแห้ง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบจักษุแพทย์
2.2 โรคต้อกระจก
เกิดจากเลนส์แก้วตามีการขุ่นตัว มักพบมากในผู้สูงอายุ โดยส่วนมากมักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป หากปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อการมองเห็นไปเรื่อยๆ โดยผู้ที่เป็นต้อกระจกส่วนมากมักจะมีอาการสายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มองไม่ชัด มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพราะปัจจุบันมีวิวัฒนาการก้าวหน้า ในการรักษาโรคต้อกระจกด้วยการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยเทคนิค "เฟโค" (Phacoemulsification) ที่ช่วยคืนการมองเห็นชัดเจน แผลเล็ก ไม่ต้องเย็บแผล ปลอดภัย
2.3 โรคจอประสาทตาเสื่อม
คือกระบวนการเสื่อม หรือถูกทำลายของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดได้จาก อายุ โดยพบมากในอายุ 65 ปีขึ้นไป เชื้อชาติ เพศ โดยพบมากในคนต่างชาติ ยุโรป อเมริกา และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี การสูบบุหรี่ โดยพบว่าผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง โดยโรคจอประสาทตาเสื่อม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
ชนิดแรก แบบแห้ง (Dry AMD)
เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เกิดจาการเสื่อมและบางตัวลงของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา (Macular) อาการเริ่มต้นคือการมองเห็นภาพเบลอๆ ทำให้เห็นหน้าคนไม่ชัด หรือต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรม หรือบางรายอาจมีอาการเริ่มจากตามัวเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ
ชนิดที่สอง แบบเปียก (Wet AMD)
พบประมาณ 10 – 15% ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่จะสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตาบอด โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากมีหลอดเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา ทำให้เลือดและของเหลวที่อยู่ภายในไหลซึมออกมา เป็นผลให้จุดศูนย์กลางการรับภาพบวม ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และเมื่อเซลล์ประสาทตาตาย ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นในที่สุด อาการเริ่มต้น จะเริ่มเห็นเส้นตรงกลายเป็นเส้นโค้งบิดเบี้ยว เห็นภาพสีซีดจางกว่าปกติ และอาจเห็นจุดมืดดำที่ตรงกลางภาพ
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สม่ำเสมอ
3.1 รับประทานผักผลไม้สม่ำเสมอการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และครบสารอาหาร 5 หมู่นั้น นอกจากจะให้สารอาหารครบถ้วนช่วยบำรุงร่างกายแล้ว ยังได้รับเกลือแร่และวิตามิน ช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตาและสายตาอาทิเช่น ซิงค์ วิตามินเอ วิตามินซี ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตาและสายตา
3.2 รับประทานปลาที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 (Omega 3)
จากการศึกษาพบว่า Omega 3 สามารถบรรเทาอาการตาแห้งได้ เนื่องจาก Omega 3 จะทำให้ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ที่เรียกว่า Meibomian Gland ทำงานได้ดีขึ้น โดยทำหน้าที่ผลิตไขมันมาเพื่อเคลือบชั้นของน้ำตาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาระเหยเร็วจนเกินไป ช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้
3.3 ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว ต่อวัน
การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายและดวงตา ไม่ขาดน้ำ และช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำตาได้เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันตาแห้ง