02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ม่านตาอักเสบคืออะไร และมีอาการอย่างไร

ภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis) คือ การอักเสบของม่านตา หรือเนื้อเยื่อส่วนหน้าภายในลูกตาหรือเรียกง่ายๆ คือ การอักเสบของตาดำ ซึ่งเป็นบริเวณที่หลอดเลือดมาเลี้ยงค่อนข้างมาก โดยสามารถเกิดภาวะม่านตาอักเสบได้ทั้งส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลังของม่านตา และหากเป็นมากๆ ก็สามารถเกิดการอักเสบได้ทั้ง 3 ส่วนด้วยกัน เมื่อมีการอักเสบจะส่งผลต่อการมองเห็นได้เป็นอย่างมาก และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าป่วยเป็นภาวะม่านตาอักเสบหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางสาขาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ (Uveitis specialist) เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป

การอักเสบของม่านตา เป็นไปตามความรุนแรงของโรค โดยอาจเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง

การอักเสบที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา แพ้แสง ตาแดงและตามัว เห็นลอยจุดหรือก้อนเมฆเคลื่อนไหวในการมองเห็น

การอักเสบแบบเรื้อรัง การดำเนินของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งมาพบแพทย์เมื่อมีอาการตามัวลงจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อกระจก ต้อหิน รวมทั้งจุดภาพชัดบวม เป็นต้น ส่งผลให้สูญสียการมองเห็นแบบถาวรได้
สาเหตุการอักเสบของม่านตามี ดังนี้
  1. การติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น
  2. ภาวะแพ้ภูมิตนเองการมีภูมิคุ้มกันไวเช่น ผู้ป่วยที่มียีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า HLA-B27, ผู้ป่วยเบเซ็ท (Behcet’s disease), ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ และ SLEเป็นต้น
  3. สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือการใช้ยาบางชนิดเช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบิสฟอสโฟเนต  (Bisphosphonates)เป็นต้น
การรักษาจะรักษาตามสาเหตุ เช่น สาเหตุจากการติดเชื้อ แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ร่วมกับยาลดการอักเสบ ส่วนม่านตาอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ แพทย์มักให้ยาสเตียรอยด์เป็นหลัก อาจเป็นในรูปแบบยาหยอดตาหรือยารับประทาน โดยต้องติดตามอาการหรือระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการให้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งอาจทำให้ความดันตาสูงหรือเลนส์ตาเกิดต้อกระจกได้ อย่างไรก็ตามหากไม่รักษา การอักเสบของม่านตาเองก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหินหรือต้อกระจกขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้การรักษาแบบเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งจากตัวโรคเองหรือจากการใช้ยา

ทั้งนี้ หากเกิดความผิดปกติทางตา ควรพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค หรือควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง