กระจกตา (Cornea) เป็นส่วนใสของดวงตาที่อยู่บริเวณด้านหน้าของลูกตา มีทั้งหมด 5ชั้น ความหนาเฉลี่ยประมาณ 520 ไมครอน กระจกตาจะทำหน้าที่ร่วมกับเลนส์ตา โดยหน้าที่หลักของกระจกตาคือการหักเหแสงให้เข้ามาในดวงตาเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน และกระจกตายังช่วยปกป้องฝุ่นและเชื้อโรคให้กับดวงตาอีกด้วย
ปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับกระจกตา
ปัญหาเกี่ยวกับกระจกตาที่สามารถพบได้มีดังนี้:
- กระจกตาบวม : เป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมของของเหลวในกระจกตา เนื่องจากเซลล์ในกระจกตาลดลง จึงขับของแหลวออกจากกระจกตาได้น้อยลง
- กระจกตาถลอก : เกิดจากการบาดเจ็บที่ชั้นนอกสุดของกระจกตา มักเกิดจากการขูดขีด การสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม หรือการใช้งานคอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกต้อง
- กระจกตาเป็นแผล : เกิดจากการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บที่กระจกตา ทำให้กระจกตาอักเสบ
- กระจกตาโป่งพอง : ภาวะที่กระจกตาค่อยๆบางลงและโป่งพองออกมา ทำให้คุณภาพการมองเห็นผิดเพี้ยน
- ตาแห้ง : เกิดจากการที่ดวงตาผลิตน้ำตาไม่เพียงพอ หรือน้ำตามีคุณภาพที่ไม่ปกติ ทำให้รู้สึกตาแห้งและเคืองตา
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกระจกตา
กระจกตาเสื่อมคืออะไร? และมีอาการอย่างไร?
เป็นภาวะที่กระจกตามีการเปลี่ยนแปลงที่เสื่อมลง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น การอักเสบเรื้อรัง หรือโรคเรื้อรัง
แบ่งออกเป็น 3ประเภทหลักๆ คือ
- กระจกตาเสื่อมจากการสูญเสียเซลล์ : เซลล์กระจกตาชั้นในสุดมีปริมาณลดลง ทำให้กระจกตาบวมและมองเห็นไม่ชัดเจน
- กระจกตาเสื่อมจากการสะสมแคลเซียม : ทำให้เกิดแถบสีขาวขุ่นที่กระจกตา
- กระจกตาเสื่อมจากการสะสมไขมัน : ทำให้กระจกตาขุ่นและมองเห็นไม่ชัด
หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค
- มองเห็นไม่ชัดเจน
- ตาแห้งและระคายเคือง
- ตาไวต่อแสงจ้า
- ตาแดงและอักเสบ
สามารถป้องกันกระจกตาเสื่อมได้อย่างไรบ้าง?
เพื่อรักษาสุขภาพของกระจกตาให้ดีอยู่เสมอ ควรดูแลดังนี้
- รักษาความสะอาดของดวงตาอยู่เสมอ ล้างมือก่อนสัมผัสบริเวณดวงตา และไม่ขยี้ตา
- รักษาความสะอาดและปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้งานคอนแทคเลนส์
- สวมแว่นตากันแดดที่เคลือบสารป้องกันยูวีเมื่อต้องออกแดด
- ปกป้องดวงตาจากฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ สวมแว่นหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาเมื่อทำกิจกรรมหรือมีความเสี่ยงที่จะสิ่งแปลกปลอมเข้าดวงตา
หากกระจกตาเสื่อม รักษาอย่างไร?
การรักษากระจกตาเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ประเภท และความรุนแรงของโรค
- การใช้ยาหยอดตาเพื่อลดการอักเสบหรือป้องกันการติดเชื้อ
- การใช้เลนส์สัมผัสพิเศษ สำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบางหรือกระจกตาโป่งพอง
- การเปลี่ยนกระจกตา ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระจกตาเสียหายรุนแรง เช่น กระจกตาบางจนเกือบทะลุ กระจกตาโป่งอย่างรุนแรง หรือมีเปลี่ยนกระจกตาเพื่อรักษาการติดเชื้อ
- การรักษาด้วยแสงยูวี สำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาโป่งพอง
กระจกตาเป็นส่วนสำคัญของดวงตา เพื่อให้คุณมีสุขภาพดวงตาที่สมบูรณ์และถนอมรักษาสายตาไว้ให้มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี หากคุณมีอาการผิดปกติใดๆเกี่ยวกับดวงตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที