02-056-3333
บริการสำหรับผู้ป่วย> ร้านมุมมอง แว่นตาและคอนแทคเลนส์> เกร็ดความรู้

สายตาผู้สูงอายุ

สายตาผู้สูงอายุ(Presbyopia)
นิยามสายตาผู้สูงอายุ
คนอายุตั้งแต่  40 ปีขึ้นไป จะมีอาการมองเห็นภาพใกล้ๆไม่ชัดเจน  ในขณะที่มองไกลยังเห็นได้ดี มีวิธีสังเกตได้ง่ายๆก็คือ  อ่านหนังสือในระยะห่างจากตา 1 ฟุต  หรือระยะที่เคยอ่านเห็นกลับอ่านไม่ชัด  ต้องใช้วิธีเลื่อนหนังสือให้ไกลออกไป  หรือถ้าเป็นคุณแม่บ้านที่เย็บปักผ้า  จะเริ่มสนเข็มไม่เข้าเนื่องจากไม่เห็นรูเข็ม  บางคนอาจจะใช้วิธีหยีหรือหรี่ตาให้เล็กลง  ก็จะพอช่วยให้อ่านหนังสือได้ง่ายขึ้น
ทำไมผู้สูงอายุจึงมองเห็นภาพใกล้ไม่ชัด?
ดวงตาคนเราเหมือนกล้องถ่ายรูป ถ้าเราต้องการถ่ายรูประยะต่างๆกันให้ได้ภาพที่ชัดเจน  เราทำได้โดยการปรับโฟกัส  วิธีเพิ่มกำลังให้แก่เลนส์  โดยขบวนการที่เรียกว่า “การเพ่ง”(Accommodation )  กล่าวคือ ดวงตาคนเราปรับโฟกัสตาในขณะที่เรามองเห็นภาพระยะไกล  ตาเราจะอยู่ในระยะพัก  แต่เมื่อเราต้องการดูระยะใกล้จะเกิดการหดตัวตึงของกล้ามเนื้อเลนส์ตาที่ช่วยในการเพ่ง  จึงเป็นเหตุให้เลนส์ตาคนเราป่องออก  เป็นการเพิ่มกำลังหักเหของแสง  ทำให้เห็นภาพระยะใกล้ชัดเจนขึ้น
กลไกการเพ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติและปกติ  ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุประมาณ 40 ปี  ต่อจาก  นั้นขบวนการเพ่งจึงอ่อนแรงลง  ได้มีผู้ศึกษาโดยวิธีตรวจวัด  พบว่าในเด็กๆ  เราอาจเพ่งได้มาก  จึงมองเห็นภาพที่อยู่ชิดตาได้ชัดเจน  เมื่ออายุมากขึ้นกำลังการเพ่งจะลดลงเรื่อยๆ  จนถึงอายุประมาณ  40 ปี  กำลังเพ่งที่เหลืออยู่ไม่พอที่จะใช้ดูหนังสือในระยะ 1 ฟุตได้  ต้องเลื่อนหนังสือให้ไกลออกไป  หรือใช้แว่นที่มีกำลังเป็นบวก(เลนส์นูน)ชดเชย  ซึ่งกำลังการเพ่งจะลดลงเรื่อยๆจนเป็น 0หรือไม่มีเลยเมื่ออายุประมาณ 75 ปี
ขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นขบวนการปกติของคนเราทุกคน  แต่จะเริ่มเสื่อมลงเร็ว  หรือช้าในระยะเวลาต่างๆกันในแต่ละคน  โดยเฉลี่ยจะเริ่มอายุประมาณ 40 ปี  ผู้หญิงอาจจะเร็วกว่าผู้ชายเล็กน้อย  ถ้าคนที่มีสายตาสั้นอาจจะเริ่มเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี  นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่า  ผู้ที่มีสายตาผิดปกตินั้นใช้แก้ไขด้วยวิธีใด  เช่น  คนสายตาสั้น  ถ้าใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ  อาจจะเป็นสายตาสูงอายุเร็วกว่าคนสายตาสั้นขนาดเท่ากันที่ใช้แว่น  เป็นต้น
สายตาผู้สูงอายุมีอาการอย่างไร ?
         คนบางคนอาจเข้ามาสู่ภาวะสายตาสูงอายุโดยไม่มีอาการอะไรมาก  เพียงแค่มองใกล้ไม่ชัด  อ่านหนังสือไม่ได้  แต่ในบางคนอาจมาด้วยอาการปวดตา  และ/หรือปวดศีรษะ  เวลาใช้สายตามองใกล้และอาจแสบตา  เคืองตา  มีอยู่บ่อยๆ  ที่ผู้ป่วยมัวแต่ไปหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะอยู่นาน  ในที่สุดพบว่าเป็นเพียงสายตาผู้สูงอายุเท่านั้นเอง  เมื่อแก้ไขโดยการใช้แว่น  อาการทั้งหมดก็หายไป   ถ้าท่านมีอายุ 40 ปี ขึ้นไปมีอาการปวดตาปวดศีรษะ  จึงควรนึกถึงภาวะนี้ไว้ด้วย
สายตายาว กับสายตาผู้สูงอายุเหมือนกันไหม ?
สายตาผู้สูงอายุ บางคนไปสับสนเป็นอันเดียวกับ  สายตายาว ความเป็นจริงแล้วไม่ถูกต้อง  จริงอยู่ที่ทั้ง 2 สภาวะมีวิธีแก้ไขโดยการใช้เลนส์แว่นตาเป็นเลนส์นูน ซึ่งมีกำลังเป็นบวกเหมือนกันแต่ต่างเวลากัน  สายตาผู้สูงอายุใช้เลนส์นูนเฉพาะเวลาดูใกล้  ส่วนคนที่มีสายตายาวพบได้ทุกอายุตั้งแต่แรกเกิดเลย และแว่นเลนส์นูนใช้ตลอดทั้งดูระยะไกลและใกล้
แก้ไขสายตารักษาผู้สูงอายุได้อย่างไร         
วิธีแก้ไขทำได้ง่ายมาก  โดยการวัดสายตาประกอบแว่น ซึ่งมีทางเลือก  ดังนี้
  1. ใช้แว่นสายตาเฉพาะมองใกล้  ถ้ามองไกลก็ถอดแว่นออก  เช่น  ถ้าจะอ่านหนังสือ  หรือเย็บผ้าก็สวมแว่นเสร็จงานแล้วก็ถอดแว่นออก  แว่นชนิดนี้ไม่เหมาะกับคนที่อยากจะมองทั้งไกลและใกล้ในเวลาเดียวกัน  เช่น  ครูที่สอนหนังสือ  อาจจะมองเด็กหลังชั้นพร้อมกับดูหนังสือหรือตรวจงานเด็ก 
ข้อเสียคือ ถ้าใช้แว่นชนิดนี้ทำให้ต้องใส่แว่น ใส่ๆ  ถอดๆ หรือมองลอดแว่นเมื่อมองระยะไกล
 
  1. ใช้เลนส์แว่นตา 2 ชั้น  เลนส์ของแว่นตาชนิดนี้จะมีรอยต่อระหว่างเลนส์แว่นตาเห็นชัดเจน  เมื่อมองไกลใช้เลนส์บน  เมื่อมองใกล้ใช้เลนส์ล่าง  จึงสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องมองทั้งไกลและใกล้ในการทำงาน  แว่นตา  2  ชั้น  อาจมีรูปร่างต่างๆ กันบริเวณรอยต่ออาจจะโค้งหรือเป็นเส้นตรงแค่บางส่วนหรือแบ่งครึ่งบนและล่าง  แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียต่างๆกัน
ข้อเสียคือ  บริเวณรอยต่อจะมีการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสง  หากมองภาพตรงบริเวณรอยต่อ  จะรู้สึกเหมือนภาพของวัตถุกระโดดหรือเคลื่อนที่ไปจากความจริง  โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เลนส์แว่นตาชนิดนี้ใหม่ๆ  ไม่ควรใส่แว่นตาชนิดนี้ขึ้นลงบันได  เพราะอาจจะก้าวพลาดพลั้งได้  หลายๆ คนมีความกังวลว่า  ใส่แว่นชนิดนี้แล้วมีความมึนงง  ภาพที่เห็นกระโดดไปมา  แต่โดยทั่วไปจะเป็นระยะแรกเท่านั้น  เมื่อใช้ไปนานเข้าก็จะปรับตัวได้  และเป็นตัวฟ้องว่าผู้ใช้แว่นตาชนิดนี้  สูงอายุแล้ว  จึงไม่ต้องการที่จะใช้
  1. เลนส์แว่นตาชนิดโปรเกรสซีฟในเลนส์แว่นตาโปรเกรสซีฟนั้นกำลังหักเหของแสงจะลดหลั่นกันลงมา  มีการปรับโฟกัสตั้งแต่ระยะไกลที่สุดจนถึงระยะใกล้  โดยไม่มีรอยต่อให้เห็นระหว่างแต่ละโฟกัส  ดูเหมือนว่าเลนส์ชนิดนี้น่าจะดีที่สุด  เพราะเห็นชัดทุกระยะ
ข้อเสียคือ บริเวณปรับเปลี่ยนโฟกัสอาจทำให้เห็นภาพเคลื่อนที่ได้  ภาพข้างๆจะบิดเบี้ยวไปจากความจริงมากทำให้ผู้สวมมึนงง วิธีแก้ไขก็คือ  อย่าใช้วิธีชำเลืองดูเพราะจะไปมองผ่านด้านข้างๆของเลนส์  ให้ใช้วิธีหันหน้าไปมองวัตถุโดยตรงเลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่อยากให้ใครเห็นแว่น  2  ชั้น  และผู้ที่ต้องการมองเห็นภาพชัดเจนหลายระยะด้วยแว่นเดียว
 
  1. คอนแทคเลนส์  เพื่อสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่ไม่อยากใช้แว่นตา  มีผู้ผลิตคอนแทคเลนส์ชนิดที่มีโฟกัส  2  ระยะ คือ เมื่อใช้เลนส์ชนิดนี้แล้วจะสามารถมองเห็นชัดทั้งระยะไกลและใกล้  แต่เลนส์ชนิดนี้ยังไม่ค่อยนิยมกันนัก  นอกจากนั้นในขณะนี้  กำลังเลนส์ที่มีขายยังจำกัด  ไม่มีทุกกำลังสายตา  จึงแก้ไขได้เฉพาะบางคนเท่านั้น  และผู้ใช้ยังมีความยุ่งยากต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด
 
  1. การแก้ไขโดยวิธีMonovision   สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้สายตาทั้งไกลและใกล้ในเวลาเดียวกัน  และไม่อยากที่จะใช้แว่นตา  อาจจะทำเลนส์ใช้ดูไกลด้วยตาข้างหนึ่ง  และดูใกล้ด้วยตาอีกข้างหนึ่งโดยใช้ตาที่ถนัดหรือดีกว่ามองใกล้ (เนื่องจากเป็นเทคนิคเฉพาะ ควรปรึกษาจักษุแพทย์)
ควรพบหมอตาอีกเมื่อไร ?
เมื่อมีอาการทางสายตา  ไม่ว่าจะช่วงอายุใด  ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ  เพราะอาการทางสายตาเกิดได้จากหลายโรค  ดังนั้นการพบจักษุแพทย์จะช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุได้ถูกต้อง  และได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วขึ้น  
ขอบคุณข้อมูลจาก – วารสารสมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย