ตาแห้ง (Dry Eyes)
“
น้ำตา” ทำหน้าที่หล่อลื่นไม่ให้เยื่อบุตาแห้ง ลดการเสียดสีขณะกระพริบตา ชะล้างฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองให้กับดวงตา
“
ระบบทางระบายของน้ำตา”ในสภาวะปกติน้ำตาที่ผลิตออกมาหล่อลื่นดวงตาจะไหลระบายออกไปทางท่อน้ำตาเล็กๆ ที่มีอยู่บริเวณหัวตา ตรงรอบเปลือกตาบนและขอบเปลือกตาล่างด้านใน โดย 2 รูนี้จะรวมกันเป็นท่อเดียวเพื่อเชื่อมต่อกับถุงน้ำตาผ่านลงมาภายในกระดูกโหนกแก้มจนมาเปิดภายในจมูกและไหลผ่านลงคอตามลำดับ
หากระบบการสร้างและระบบทางระบายของน้ำตาทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้เกิดความไม่สบายตาต่างๆขึ้นได้ เช่น เคืองตา แสบตา น้ำตาไหลคลอ และที่สำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของ“อาการตาแห้ง”
อาการทางตาที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมน้ำตาที่พบได้บ่อยมี 2 ลักษณะ คือ
-
มีน้ำตาน้อยเกินไป ได้แก่ ภาวะอาการตาแห้ง พบได้ร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านระบบต่อมน้ำตา
-
มีน้ำตามากเกินไป มีสาเหตุมาจากภาวะท่อน้ำตาอุดตัน (nasolacrimal duct obstruction)
อาการตาแห้งนั้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนใหญ่พบจากสาเหตุร่วมกันดังนี้
-
ความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัย ซึ่งจะทำให้การสร้างน้ำตาค่อยๆ ลดลงเอง
-
ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิงในวัยหลังหมดประจำเดือน
-
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดสิว เป็นต้น
-
การผ่าตัดดวงตาหรือการทำเลสิก
-
การใส่คอนแทคเลนส์
-
สภาพแวดล้อมที่มีแต่มลพิษ ทำให้เกิดการอักเสบดวงตาและเกิดอาการตาแห้งตามมา
-
พฤติกรรมการใช้ชีวิตผู้คนในปัจจุบัน เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ
-
ผู้ป่วยที่เป็นโรค Sjogren’s syndromeเป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกันแบบเรื้อรังที่ทำให้เกิดการทำลายต่อมที่ทำหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาและปาก
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้ง
-
คันเคืองตา เหมือนมีทรายหรือฝุ่นอยู่ในตา
-
บริเวณตาขาวมีสีแดงจากการอักเสบ
-
ขอบเปลือกตาแดง
-
แพ้แสง แพ้ลม
-
ตามัวเป็นบางขณะ
-
รู้สึกไม่สบายตาตอนตื่นนอน
ปล่อยไว้ในระยะยาวอาการเคืองตาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาและกระจกตา ท้ายที่สุดอาจนำมาสู่การเกิดแผลที่กระจกตาได้นั่นเอง อาการตาแห้งอาจเป็นได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ผลที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพและความอดทนในการใช้สายตาลดลง
วิธีการดูแลรักษาอาการตาแห้ง
-
หลีกเลี่ยงการปะทะกับแสงแดดและลมโดยตรง เพื่อลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง
-
สวมแว่นกันลมและกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นเยอะๆ และลมพัดแรงๆ หรือแม้กระทั่งการนั่งให้แอร์เป่าใส่ดวงตาโดยตรง
-
ใช้กรอบแว่นตาชนิดพิเศษ สำหรับผู้ที่ตาแห้งมากควรใช้แว่นที่มีแผ่นคลุมปิดกั้นลมด้านข้างซึ่งจะช่วยครอบทั้งดวงตาได้
-
กระพริบตาถี่ๆ โดยเฉพาะเวลาใช้คอมพิวเตอร์, มือถือ โดยปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง โดยทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิวน้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่งมอง เราจะลืมตาค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตา 8-10 ครั้งต่อนาที หรือน้อยกว่านั้น น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ดังนั้นระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์อาจหลับตาชั่วขณะ หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
-
ใส่คอนแทคเลนส์ให้น้อยลง หากพบว่าตาแห้งมากควรงดใส่คอนแทคเลนส์
-
ประคบน้ำอุ่น (warm compression) อุณหภูมิประมาณ 41-43 องศาเซลเซียส เป็นประจำเช้า-เย็น ครั้งละ 10-15 นาที
-
เสริมด้วยการรับประทานอาหารจำพวกปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำตา
-
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่
-
ใช้น้ำตาเทียมเพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง น้ำตาเทียม มี 2 ชนิด คือ
-
น้ำตาเทียมชนิดน้ำ มีให้เลือก 2 ชนิด
-
ชนิดเป็นขวด ซึ่งจะมีส่วนผสมของยากันบูด เปิดขวดแล้วใช้ได้ประมาณ 1 เดือน และไม่ควรใช้เกินวันละ 6 ครั้ง เพราะยากันบูดอาจทำให้ตาแดง
-
ชนิดเป็นกระเปราะ ซึ่งไม่มีส่วนผสมของยากันบูด จึงใช้ได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงหลังจากเปิดกระเปราะ เหมาะสำหรับคนที่ตาแห้งมากๆเพราะอาจใช้ใส่ทุกชั่วโมงก็ไม่ทำให้ตาแดง
-
น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียวหนืด หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ แต่ควรใช้ป้ายตาแต่น้อยและควรใช้ก่อนนอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัทนำศิลป์ไทย