02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับจอประสาทตาเสื่อมและการรักษา

ไม่ว่าใครก็ย่อมอยากมีสุขภาพตาที่ดีไปนานๆ ไม่ต่างจากสุขภาพในด้านอื่น ดังนั้นแล้วเราจึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพสายตาอยู่ตลอด รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับดวงตา วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาการ “จอประสาทตาเสื่อม” อีกหนึ่งอาการกวนใจที่พบได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ 

จอประสาทตาเสื่อมคืออะไร?

ภาวะที่เกิดความเสียหายกับจุดศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา (macula) ซึ่งเป็นบริเวณที่สำคัญต่อการมองเห็นที่ชัดเจน ภาวะนี้ทำให้การมองเห็นเฉพาะภาพตรงกลางเสื่อมลง แต่การมองเห็นรอบข้างยังคงเป็นปกติ

อาการเริ่มต้นของภาวะจอประสาทตาเสื่อม

หากท่านมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางจอประสาทตาเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • มองเห็นภาพเบลอ : มีอาการมองเห็นใบหน้าบุคคลไม่ชัดเจน โดยเฉพาะตรงกลางของภาพที่เห็น ทำให้แยกความแตกต่างของใบหน้าแต่ละบุคคลได้ยาก
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว : เริ่มมองเห็นเส้นตรงหรือกรอบประตูบิดเบี้ยวหรือโค้ง
  • มองเห็นสีซีดจางลง
  • มองเห็นจุดดำหรือจุดบอดบริเวณกลางภาพ
  • การมองเห็นในที่มืดหรือที่ที่มีแสงน้อยได้ยากลำบากขึ้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับจอประสาทตาเสื่อม

อาการจอประสาทตาเสื่อมมีสาเหตุจากอะไร?

เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น : 

  • อายุ : อายุที่มากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม : การวิจัยพบว่า ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อม จะยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าผู้อื่น
  • การสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงและไม่มีการป้องกันเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอลสูง สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
  • การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างมาก เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ทำลายจอประสาทตา

อาการจอประสาทตาเสื่อมรักษาอย่างไร?

  • การฉายแสงเลเซอร์

    เพื่อใช้แสงเลเซอร์ในการยับยั้งหรือชะลอเส้นเลือดที่มีความผิดปกติ วิธีนี้จะใช้ได้ในบางกรณีตามคำแนะนำและการวางแผนรักษาของจักษุแพทย์

  • การฉีดยากลุ่ม (Anti-Vascular Endothelial Growth Factor : Anti-VEGF)

    โดยฉีดยาเข้าไปในน้ำวุ้นตาเพื่อทำให้เส้นเลือดที่งอกผิดปกติฝ่อไป ต้องฉีดอย่างน้อย 3 ครั้ง ทุก 1 เดือน และอาจต้องฉีดทุก 2 - 3 เดือนในระยะต่อมา

  • การผ่าตัด

    ใช้ในกรณีที่มีเลือดออกใต้ศูนย์กลางรับภาพ โดยการฉีดยาเข้าไปเพื่อทำให้เลือดที่แข็งตัวละลาย และฉีดแก๊สเข้าไปรีดเลือดให้ขยับออกจากศูนย์กลางจอรับภาพ

สามารถป้องกันอาการจอประสาทเสื่อมได้อย่างไร?

  • ปกป้องสายตาจากแสงแดด : สวมแว่นตากันแดดที่เคลือบสารป้องกันรังสียูวีและหมวก
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : อาหารที่ช่วยชะลอและลดความเสี่ยงได้ คือ ผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยลูทีน (Lutein) โดยเฉพาะผักในตระกูลคะน้า ผักโขม บล็อคโคลี  ผลไม้ ปลาที่มีไขมันดี เช่น แซลมอล และอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ 
  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่มีคอเรสเตอรอลสูง
  • ควบคุมน้ำหนักร่างกายและโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

การสังเกตสุขภาพอย่างใส่ใจและเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ รวมถึงการปรึกษาจักษุแพทย์เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยให้คุณสามารถตรวจพบถึงโรคและรักษาอย่างเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที เพื่อสุขภาพสายตาที่ดีอย่างยาวนาน